กรณีบริษัทฯ ผลิตสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งวัตถุดิบมีลักษณะเฉพาะไม่สามารถนำไปใช้กับลูกค้าอื่นได้ และคำสั่งซื้อลดลงมีผลให้เกิดวัตถุดิบ dead stock จึงทำการเจรจาขอเก็บมูลค่า (ความเสียหาย) โดยไม่ได้มีการส่งมอบวัตถุดิบ กรณีนี้ถือเป็นรายได้จากการเรียกเก็บเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ ในลักษณะเป็นการให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบแทนหรือให้บริการหรือกระทำการใด ๆ สำหรับเงินที่ได้รับดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) ประกอบกับมาตรา 77/1 (8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร (Out of VAT Scope)

ตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/พ.05378 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 กรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

“ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่ลูกค้าของบริษัทฯ ยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนให้แก่บริษัทฯ โดยมีลักษณะเป็นการให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องตอบแทนหรือให้บริการหรือกระทำการใดๆ สำหรับเงินที่ได้รับดังกล่าว เงินได้ดังกล่าวจึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่บริษัทฯ จะต้องนำเงินช่วยเหลือดังกล่าวไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย โดยถือเป็นรายได้เนื่องจากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร”.