ที่ประชุมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างสถานีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ผ่านแอพพลิเคชั่น Zoom เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีรัฐมนตรี เข้าร่วมถึง 3 คน ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม รวมถึงผู้แทนจาก จ.พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยา เปิดไฟเขียวให้สถานีอยุธยาได้ไปต่อ

สถานีอยุธยาอยู่ในงานสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ -พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.วงเงิน 9.9 พันล้านบาท โดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะประมูล แต่ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากติดปัญหาจากข้อกังวลของกรมศิลปากรว่าการสร้างสถานีจะบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กรมศิลปากร จึงให้กระทรวงคมนาคมจัดทำรูปแบบสถานีมาพิจารณาก่อนก่อสร้าง

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า ได้พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่าพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีดได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แต่เพื่อลดข้อกังวลต่างๆ จะลดระดับสันรางจาก 19 เมตร ลงเหลือ 17 เมตร นอกจากนี้ยังเตรียมจัดทำ รายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เสนอต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พร้อมกำหนดมาตรการจำกัดความสูงของอาคารรอบสถานี เช่น ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะออกระเบียบกำหนดความสูงไม่ให้เกินที่กำหนด และประสานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นออกเทศบัญญัติควบคุมความสูงของอาคารโดยรอบสถานี ทั้งนี้ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมนำมติที่ประชุมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการของโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต่อไป

ย้อนปัญหาของเรื่องนี้ได้ประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้งในการปรับรูปแบบสถานี จนกระทั่งกระทรวงคมนาคมกลับไปใช้แบบการก่อสร้างสถานีอยุธยารูปแบบเดิมตามรายงาน EIA ซึ่งเป็นสถานีมีหลังคาแบบเรียบๆ เป็นกระจกใส ไม่ต้องทำเป็นหลังคาทรงจั่ว เพื่อไม่ให้ข่มกับสถาปัตยกรรมเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.อยุธยา แต่ก็ยังไม่จบ ล่าสุดกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กรมศิลปากร ระบุว่า ยูเนสโก ให้ประเทศไทยจัดทำ HIA เนื่องจากกังวลจะกระทบกับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะการพัฒนาเมือง ทั้งที่อยู่ห่างจากสถานีอยุธยาประมาณ 2 กม.

เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การก่อสร้างสถานีอยุธยา ได้ผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย และทำถูกต้องครบทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะ EIA ได้ผ่านการพิจารณาแล้ว ซึ่งในคณะกรรมการผู้พิจารณา EIA ก็มีผู้แทนกรมศิลปากรร่วมอยู่ด้วย แต่ครั้งนั้นไม่ได้โต้แย้และที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมรับฟังมาโดยตลอด แม้กระทั่งการปรับแบบก่อสร้างสถานีอยุธยา ที่ให้คงขนาดความสูงตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ทางกระทรวงฯก็ปฏิบัติตาม จนกระทั่ง EIA ผ่านการพิจารณาแล้ว แต่กลับต้องมาทำรายงาน HIA เพิ่มเติมอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้น รฟท.ต้องส่งหนังสือไปยังรัฐบาลจีนเพื่อแจ้งถึงปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยา เพราะอาจจะทำให้ภาพรวมการก่อสร้างทั้งโครงการล่าช้า และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในส่วนของงานที่ดำเนินการโดยจีน สัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 5.06 หมื่นล้านบาท เพราะหากส่งมอบพื้นที่ให้ฝ่ายจีนเข้าดำเนินการไม่ได้ตามสัญญา รฟท. อาจต้องจ่ายค่าปรับให้กับฝ่ายจีน

ขณะเดียวกัน รฟท.กำลังเร่งจัดทำ HIA โดยอยู่ระหว่างจัดส่งเอกสารรายละเอียดการประกวดราคา (ทีโออาร์) งานบริการที่ปรึกษาเพื่อจัดทำ HIA ให้ยูเนสโก ณ กรุงปารีส ช่วยตรวจสอบรายละเอียดให้อย่างไม่เป็นทางการเป็นรอบสุดท้ายแล้ว เนื่องจาก HIA เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดในประเทศไทยจัดทำมาก่อน จึงอยากให้ขอบเขตงานการทำ HIA ครั้งนี้ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้านที่สุด

หากร่างทีโออาร์ไม่มีปัญหาอะไร รฟท. จะเปิดประมูลงานบริการที่ปรึกษา เพื่อจัดทำ HIA ได้ทันที เบื้องต้นจะใช้งบประมาณจ้างที่ปรึกษาประมาณ 31 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 65 โดยงานที่ที่ปรึกษาต้องดำเนินการประกอบด้วย การสำรวจ ประเมินผลกระทบ และเสนอมาตรการในการลดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก

กระทรวงคมนาคมยืนยันด้วยว่า ได้พยายามลดข้อกังวลต่างๆ ให้หมด และสามารถแก้ปัญหาได้หมดอยู่แล้ว แต่กรมศิลปากรก็มีข้อกังวลเพิ่มเติมว่า เมื่อมองมาจากโบราณสถานที่เป็นมรดกโลกจะเห็นทางวิ่งรถไฟไฮสปีด ประเด็นนี้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ รฟท. จึงลงพื้นที่ทดสอบทั้ง 92 จุด พบว่า ไม่เห็นทางวิ่งรถไฟแน่นอน เพราะ รฟท. ได้ปรับขนาดสถานีอยุธยาลงอีกเป็นครั้งที่ 2 จากเดิมครั้งแรกสูง 45 เมตร เหลือ 32 เมตร และล่าสุดเหลือไม่เกิน 20 เมตร

 โดยจะใช้วิธีตัดพื้นที่ชั้น 2 ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารออกไป และย้ายมาจำหน่ายตั๋วที่ชั้น 1 ในจุดเดียวกับจุดที่จำหน่ายตั๋วรถไฟทางคู่ ดังนั้นสถานีจะเหลือแค่ 2 ชั้นคือ ชั้นที่ 1 จำหน่ายตั๋ว และชั้น 2 ชานชาลา และลดระดับสันรางลงจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร ขณะเดียวกัน รฟท. ก็จะกำหนดเป็นข้อบังคับด้วยว่า พื้นที่ของ รฟท. รอบสถานีอยุธยาประมาณ 20 ไร่ ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 17 เมตร เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อกังวลเรื่องการมองเห็น

หลังจากนี้ รฟท.จะรวบรวมความคิดเห็นของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม. พิจารณา โดยยังคงยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ผ่านการดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมายของประเทศไทยอย่างถูกต้อง และครบถ้วนแล้ว จึงมั่นใจว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปได้

โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสแรกมีระยะทาง 253 กม. รวม 14 สัญญา วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาปฏิรูปแห่งชาติจีน ร่วมทำพิธีเปิดการก่อสร้างโครงการเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 ผ่านไปแล้ว 4 ปี

หากครม.ไฟเขียวให้ก่อสร้างสถานีอยุธยา รถไฟไฮสปีดไทย-จีนได้ไปต่อ  ตามแผนเดิม รฟท. ตั้งเป้าหมายว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดบริการประมาณปลายปี 69 หรือช้าสุดไม่เกินต้นปี 70.

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง…