ซึ่งนอกจากต้องระวังสุขภาพแล้ว กับ “อัคคีภัย-ไฟไหม้” ก็ “ห้ามประมาท” และนอกจาก “ไฟไหม้รถ” ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำเสนอแล้ว…

“ไฟไหม้บ้าน” นั้น “ร้อนจัดก็เสี่ยงสูง”

ก็ต้อง “ห้ามประมาท-ห้ามพลั้งเผลอ”

เพราะก็ “เกิดขึ้นง่ายในช่วงฤดูร้อน!!”

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะสภาพอากาศของฤดูร้อนที่มีอากาศ “ร้อนและค่อนข้างแห้งแล้ง” และก็แน่นอนว่ามักจะ “ขาดความชุ่มชื้น” จึงทำให้ “มีโอกาสเกิดไฟไหม้ได้ง่าย” รวมถึงกับบ้านเรือนที่พักอาศัยรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจากการที่ “ฤดูร้อนก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัยได้ง่าย” จึงมี “คำเตือน” จากทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ให้ประชาชนระมัดระวังภัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมกับได้มี “คำแนะนำ” เพื่อ “ลดปัจจัยที่จะทำให้เกิดไฟไหม้” ไว้ดังต่อไปนี้…

ระวังไฟไหม้จาก “กระแสไฟฟ้าลัดวงจร” โดยเฉพาะบริเวณแผงสวิตช์ และระบบควบคุมวงจรไฟ ซึ่งถ้าหากพบว่าภายในบ้านหรือที่พักอาศัยมีสายไฟฟ้าเก่า หรืออยู่ในสภาพชำรุด หรือพบการเสื่อมสภาพ ควรเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังต้อง ระวังเรื่องการใช้ไฟฟ้าเกินปริมาณ เพราะนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มักทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ส่วนวิธีป้องกัน…เริ่มจากควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสายไฟฟ้าและฟิวส์นั้นต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้า

นี่เป็นการระวังกรณี “ไฟฟ้าลัดวงจร”

“สาเหตุเกิดไฟไหม้บ้าน” ที่เกิดบ่อย ๆ

นอกจากนี้ การ “ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร” ยังทำได้ด้วยหลักปฏิบัติดังนี้คือ… ไม่เปิดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์เป็นเวลานาน, ปิดสวิตช์ไฟ-ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังใช้งาน, ใช้ปลั๊กไฟแบบถาวรที่ติดผนังกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าตลอดเวลา อาทิ ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น เพื่อป้องกันสายไฟพ่วงเกิดความร้อนสูง, ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดกับรางปลั๊กไฟสายพ่วงเดียวกัน เพราะสายไฟจะเกิดความร้อนสูงจนละลายจนส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจรได้, ติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และ ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ ในจุดที่หยิบใช้สะดวก

นี่เป็น “หลักระวัง-การป้องกันภัย”…

เพื่อ “ลดปัจจัยเกิดอัคคีภัยจากไฟฟ้า”

ระวังไฟไหม้จาก “แก๊สหุงต้มรั่วไหล” นี่ก็อยู่ในคำเตือน โดยในห้องครัวก็เป็นจุดเสี่ยงที่มักเกิดเหตุไฟไหม้อยู่บ่อย ๆ และเมื่อไฟไหม้ขึ้นแล้วมักจะรุนแรงจนยากจะควบคุม เพราะตามพื้นหรือผนังของห้องครัวมักจะ มีคราบน้ำมันสะสม อยู่…

“น้ำมันที่ใช้ทำอาหาร” ก็อย่าวางใจ…

เป็นปัจจัย “ทำให้ไฟลุกลามรวดเร็ว!!”

ส่วนวิธีป้องกันกรณีนี้ เริ่มจาก… ควรตรวจสอบถังแก๊สกับเตาแก๊สเป็นประจำ ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ปลอดภัย ควรวางถังแก๊สในแนวตั้งบนพื้นราบที่แข็งแรง อยู่ในจุดที่อากาศถ่ายเทสะดวก, ตรวจสอบสายยางท่อนำแก๊ส ข้อต่อ วาล์วถังแก๊ส ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ไม่มีรอยรั่ว เพื่อป้องกันแก๊สรั่วไหลจนเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟไหม้ รวมถึงขณะที่ทำอาหารก็ควรระมัดระวังให้ดี ๆ โดย ไม่ควรจุดเตาแก๊สทำอาหารหรืออุ่นอาหารทิ้งไว้โดยไม่มีผู้ดูแล และปิดวาล์วถังแก๊สกับเตาแก๊สทุกครั้งหลังใช้งาน อีกทั้งไม่ควรวางวัสดุที่ติดไฟได้ง่ายไว้ใกล้เตาแก๊ส …เหล่านี้เป็น “หลักไม่ประมาท” เพื่อ “ป้องกันไฟไหม้”…

ปัจจัย-สาเหตุจาก “แก๊สหุงต้ม” นั้น…

“ไฟไหม้บ้าน” เพราะสาเหตุนี้ “ก็บ่อย”

ทั้งนี้ ข้อมูลโดย ปภ. ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อยังมีคำแนะนำเชิง “เตือน” อีกว่า… สาเหตุจริง ๆ ในการเกิดอัคคีภัยมักจะเพราะ “ความประมาท” หรือ “ปัจจัยจากมนุษย์ ดังนั้น ควรใส่ใจและควรหมั่นตรวจเช็กจุดเสี่ยงต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการ จุดบุหรี่วางทิ้งไว้ หรือทิ้งก้นบุหรี่โดยไม่ดับให้สนิท กรณีนี้ก็มีโอกาสเสี่ยง เคยทำให้เกิดไฟไหม้บ้านอยู่บ่อย ๆ, การ จุดธูปเทียนไหว้พระ นี่หลายคนก็มักจุดทิ้งไว้ หรือลืมตรวจดู ซึ่งก็อาจทำให้เกิด “ไฟไหม้บ้าน” ได้เช่นกัน

และกับการจุดธูปเทียนไหว้พระนั้นทาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ได้แนะนำไว้ด้วยว่า… ควรเลือกใช้กระถางธูปหรือเชิงเทียนที่เป็นภาชนะทนไฟ เช่น กระถางธูปทองเหลืองหรือดินเผา หรือเชิงเทียนที่มีฝาครอบปิด เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไปติดวัสดุอื่น รวมถึง ไม่ควรจะจุดธูปเทียนทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก ๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้โดยลุกลามอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ควรดับธูปเทียนให้ดับสนิททุกครั้งหากไม่มีคนเฝ้า หรือไม่มีคนคอยดูแลอยู่

ก็ขอร่วมเตือนขอเน้นย้ำไว้ ณ ที่นี้

“ไฟไหม้บ้าน” นี่ “ฤดูร้อนก็เกิดชุก”

ทั้ง “เพราะร้อนจัด และประมาท”.