ทั้งนี้ ไทยในภาพรวม แม้จะมีความพยายามโดยหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาชน ในการแก้วิกฤติ แต่ถึง “ฤดูฝุ่น” รอบล่าสุดก็ยังไม่ได้ผล และไทยก็กลายเป็นประเทศที่มีคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดย “วิกฤติฝุ่นควัน” นั้นไม่เพียงทำให้ประเทศไทย “ชื่อเสีย!!”…

“ฝุ่นควันพิษ” ทั้ง “ทำลายสุขภาพกาย”

และก็ “กระตุ้นให้สุขภาพจิตมีปัญหา”

ผลกระทบทางจิตนี่ก็น่าพิจารณากัน

ทั้งนี้ กับ “ข้อน่ากังวล” ถึง “ผลกระทบต่อสุขภาพจิต” อันมีสาเหตุจาก “ปัญหาฝุ่นควัน” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้นั้น เรื่องนี้เป็นข้อมูลโดยทีมนักวิจัยไทยที่เผยผลการศึกษาไว้ว่า… มีความเป็นไปได้สูงที่ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก” หรือ “ฝุ่น PM2.5” นั้น…นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกาย เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแล้ว ยังพบว่า… มลพิษทางอากาศยังเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตอีกด้วย โดยเฉพาะใน “กลุ่มเด็กและเยาวชน”

นี่เป็น “ผลร้ายฝุ่นพิษ” ในอีกด้าน!!

สำหรับผลการศึกษาเรื่องนี้ เป็นการเปิดเผยจากทีมนักวิจัยไทย คือ ดร.วรนุช ดีละมัน สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาที่สนับสนุนโดย สสส. โดยมีการระบุไว้ว่า… มลพิษอากาศเป็นปัญหาที่มีผลกระทบหลายมิติ…

ในขณะนี้ “เป็นวิกฤติสำคัญของโลก”

ที่ “ทุกประเทศพยายามจะแก้ปัญหา”

ปัญหาจากมลพิษอากาศนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบต่าง ๆ เช่น ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ในหลายประเทศจึงหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เช่น ญี่ปุ่น ที่มีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายด้วยการออกกฎหมายหรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมพิเศษเฉพาะขึ้นมา อาทิ กฎหมายสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน และกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ หรือ จีน ก็มีการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน และกฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ ส่วน อังกฤษ ก็มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และกฎหมายอากาศบริสุทธิ์

ทั่วโลกมุ่งหยุดวิกฤติมลพิษอากาศ…

บ่งชี้ว่า “ฝุ่นคือปัญหาสำคัญของโลก”

ผลกระทบที่เกิดจาก “มลพิษทางด้านอากาศ” นั้น “ส่งผลกระทบถึงมิติสุขภาพจิต” ด้วย โดยในรายงานการวิจัยของ Susanna Roberts และคณะ ซึ่งศึกษาวิจัย สำรวจมลพิษทางอากาศ และปัญหาสุขภาพจิตในตัวอย่างเด็ก 284 คน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่า… คุณภาพอากาศไม่ดีเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น อีกทั้งผลการศึกษายังบ่งชี้ว่า…มลพิษอากาศส่งผลให้เกิด “โรคซึมเศร้า” ในกลุ่มผู้ที่อายุ 18 ปีเพิ่มขึ้น 10-20% โดยที่อุบัติการณ์และอายุของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอาจแตกต่างกันไปตามการวินิจฉัย …นี่เป็นข้อมูลจากงานวิจัยของต่างประเทศ ที่ในไทยก็น่าคิดเช่นกัน

“ปัญหาฝุ่นส่งผลกับสุขภาพจิต”…

ฝุ่น “มีความสัมพันธ์กับภัยซึมเศร้า”

ทั้งนี้ ผลศึกษาวิจัยพบว่า… คุณภาพอากาศที่แตกต่างกันของเขตเมืองและชนบท ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน ที่กำลังเติบโต ซึ่งเป็นผลจากการเกิดภาวะการอักเสบและภาวะความเครียด รวมถึง มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า รวมถึงอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดปัญหาทางพฤติกรรม ด้วย สะท้อนได้จากรายงานอัตราการจ่ายยาจิตเวชที่เพิ่มขึ้นในเด็กและวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษอากาศสูง งานวิชาการชี้ไว้

นักวิชาการไทยได้นำมาใช้อ้างอิง

ชี้ว่า “ฝุ่นพิษส่งผลต่อสุขภาพจิต!!”

ขณะที่ “แนวทางรับมือไม่ให้เกิดผลกระทบสุขภาพจิต” ที่มาจาก “ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5” นั้น ก็มีคำแนะนำไว้ โดยสรุปมีดังนี้คือ… 1.ขอความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำจากหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต หากพบตัวเองหรือคนในครอบครัวมีพฤติกรรมที่แสดงถึงความเครียด 2.เรียนรู้สัญญาณความเครียด เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขแต่เนิ่น ๆ ไม่ให้อาการความเครียดแย่ลง 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดระดับความตึงเครียดโดยรวม 4.ลดการสัมผัสกับมลภาวะ หรือกรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้อาจแก้โดยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในที่อยู่อาศัย และ 5.พักผ่อนให้เพียงพอ …เหล่านี้เป็นคำแนะนำ

“ลดความเสี่ยงมีปัญหาสุขภาพจิต”…

กับ “ฝุ่น PM2.5 ก็ต้องคำนึงด้วย”…

ถ้า “ป่วยจิตซึมเศร้า…ก็อันตราย”.