ซึ่งจัดเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2567 หลังจากทาง กสศ. และ ธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการเผยแพร่ ผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 ออกมา โดยเรื่องนี้เป็น “ประเด็นน่ากังวล” จากการที่ “เยาวชนและวัยแรงงานของไทย” ได้คะแนนต่ำ…

“ทักษะพื้นฐานชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์”…

จำเป็น “ต้องเร่งกู้วิกฤติทักษะคนไทย”

กับ “ปัญหาใหญ่” ปัญหาที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ อาจทำให้ไทย “สูญเสียทางเศรษฐกิจ” จาก “วิกฤติขาดแคลนทักษะพื้นฐานชีวิต” ที่ประกอบด้วย 1.การอ่านออกเขียนได้ 2.ทักษะด้านดิจิทัล 3.ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเยาวชนและวัยแรงงานของไทยได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ในสัดส่วนที่สูง จนหลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่ไทยจะได้รับ โดยเฉพาะอาจทำให้ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หากไม่มีแผนที่ชัดเจนในการกอบกู้วิกฤตินี้ อย่างไรก็ตาม แต่ไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญปัญหาเรื่องนี้ โดย หลาย ๆ ประเทศก็ต้องเผชิญวิกฤติ ลักษณะนี้…

หนึ่งในนั้นคือประเทศ “อินโดนีเซีย”

ที่ก็เจอวิกฤติ…แต่ก็ “ผ่านวิกฤติมาได้”

ถามว่า…แล้วอินโดนีเซียแก้อย่างไร? กับคำตอบนั้น ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STIPI) ได้วิเคราะห์และสะท้อนไว้ผ่านบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ใน www.eef.or.th ซึ่งได้นำ “วิธีแก้ปัญหาของอินโดนีเซีย” มาถอดบทเรียนใช้เป็น “กรณีศึกษาของไทย” โดยระบุไว้ว่า… ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญวิกฤติจากการที่ เยาวชนและวัยแรงงานขาดแคลนสมรรถนะที่เป็นทักษะพื้นฐานชีวิต (Foun-dational Skills) โดยกลุ่มตัวอย่างมี คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ในสัดส่วนที่สูงกว่า 70% ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขจะทำให้ไทยได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากมาย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่เผชิญวิกฤตินี้ หากแต่หลาย ๆ ประเทศเองก็เผชิญวิกฤติเช่นกันซึ่งกรณี อินโดนีเซีย ที่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็เจอปัญหาไม่ต่างจากไทย แต่อินโดนีเซีย สามารถปรับตัวได้อย่างน่าสนใจ โดยในปี 2020 อินโดนีเซียนำโครงการที่ชื่อ Kartu Prakerja (Pre-employment card) หรือ “Prakerja” มาใช้

มีเป้าหมาย “ปรับทักษะประชาชน”

ทาง ดร.แบ๊งค์ ได้อธิบายไว้ว่า… แนวคิดโครงการนี้ค่อนข้างเรียบง่าย โดยเป้าหมายที่อินโดนีเซียวางไว้คือ ต้องการ ปรับทักษะแรงงานครั้งใหญ่ โดยภาครัฐเป็นฝ่ายอุดหนุนฝั่งอุปสงค์ เพื่อให้ประชาชนนำเงินอุดหนุนไปซื้อบริการเพื่อปรับทักษะตามความสนใจของตนเอง ในขณะที่อีกด้านนั้น รัฐร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านการศึกษา ทำมาตรฐาน และคัดสรรหลักสูตรที่มีคุณภาพสูง มาให้ผู้เรียนได้เลือก โดยผู้ผลิตเนื้อหาหลักสูตรจะเป็นทางภาคเอกชน

ผลดำเนินงานหลังอินโดนีเซีย “ปรับทักษะประชาชน” ทำให้ บรรลุเป้าหมาย 3S ในระดับที่น่าพอใจ โดย S ตัวแรกคือ Scale ที่จากช่วงเริ่มต้นโครงการจนถึงปี 2022 สามารถ ปรับทักษะประชาชนได้ถึง 17.5 ล้านคน, S ตัวที่สองคือ Speed โดยโครงการนี้ ใช้เวลาแค่ 3 ปีในการปรับทักษะ แถมเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด แต่สามารถพัฒนาทักษะประชาชนได้ 10 ล้านคนขึ้นไป และ S ตัวที่สามคือ Scope ซึ่งโครงการนี้สามารถ สร้างทักษะที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกับความต้องการของภาคเอกชน ได้ …นี่เป็นความสำเร็จของแนวคิดที่อินโดนีเซียนำมาใช้ “ยกเครื่องทักษะประชาชน” ครั้งใหญ่

ขณะที่ในแง่ความสอดคล้องกับประเทศไทยนั้น ทาง ดร.แบ๊งค์ ได้สะท้อนไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้… ข้อแรก…อินโดนีเซียมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มระดับรายได้ปานกลางค่อนบนเช่นเดียวกับไทย ข้อสอง…ขนาดโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการทักษะใหม่ของแรงงานไทย โมเดลนี้จึงสามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายกว่าโมเดลประเทศพัฒนาแล้ว ไทยสามารถนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม แต่ไทยก็จำเป็นต้อง “ปรับใช้-มีสูตรเสริม” เพื่อ “ให้เหมาะสมกับไทย” ดังนี้…

สูตรที่ 1 รัฐเป็นผู้ประสานและจัดระบบ ให้เอกชนและประชาสังคมจัดทำเนื้อหา, สูตรที่ 2 ออกแบบแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนตั้งใจเรียน ผู้สอนตั้งใจสอน ทุกคนอยากให้ข้อมูล, สูตรที่ 3 ปรับแรงจูงใจตามบริบทและเป้าหมายที่เปลี่ยนไป เพื่อเน้นน้ำหนักสู่การปรับทักษะอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ลดเป้าหมายเชิงสวัสดิการสังคมลง, สูตรที่ 4 มีกลไกควบคุมและส่งเสริมคุณภาพหลักสูตร ที่เป็นอิสระและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และ สูตรที่ 5 ยิ่งโปร่งใส ยิ่งปรับตัวไว ยิ่งพัฒนา โดยไม่ควรประเมินคุณภาพแค่ระดับรายวิชาเท่านั้น แต่ต้องมีกลไกประเมินคุณภาพและผลกระทบในภาพรวมด้วย…

“การปรับโครงสร้างทักษะแรงงาน และโครงสร้างการผลิต เป็นเหมือนการปีนภูเขาสูง ที่ถ้าจะปีนขึ้นไปด้วยมือข้างเดียว ก็คงจะไม่สามารถไปถึงยอดผาได้” …ทาง ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผอ.STIPI สะท้อนไว้น่าคิด และก็ถือเป็น…

“ข้อเสนอแนะ” ถึง “ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

“อัปสกิลคนไทย” จะ “ช้ามิได้แล้ว”

ต้อง “เร่งอุดรูรั่วเศรษฐกิจไทย!!”.