คือคำว่า ’เศรษฐกิจซอมบี้-ธุรกิจผีดิบ“ ทั้งนี้ กับคำ ๆ นี้คนนอกวงการเศรษฐกิจโดยตรงก็อาจจะอดคิดไปถึงภาพยนตร์หรือนวนิยายแนวสยองขวัญสั่นประสาทไม่ได้ อย่างไรก็ตาม “ศัพท์เศรษฐกิจ” คำนี้แวดวงเศรษฐศาสตร์และภาคธุรกิจต่าง ๆ กำลังให้ความสำคัญ และเฝ้าจับตาติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่เฉพาะแค่ในไทย แต่รวมถึงทั่วโลกด้วย เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับ “ผลกระทบ” ที่ติดตามมา เมื่อพบว่า…ขณะนี้มีหลายประเทศกำลังเจอ ’ปัญหาเศรษฐกิจซอมบี้“…

ยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่ “เจอปัญหา”

จน “กระทบกับตลาดทุน-ตลาดหุ้น”

ดังนั้น ’ไทย“ ก็ ’ต้องจับตาใกล้ชิด!!“

เกี่ยวกับ “ศัพท์แปลก” คำนี้…ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญระบบเศรษฐกิจ พูดถึงกันมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ซึ่งก็รวมถึงในไทยด้วย หลังจากบางประเทศเผชิญ ’ปรากฏการณ์ธุรกิจซอมบี้“ อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งเจอปัญหาหนักจากเรื่องนี้ ขณะที่ในไทยเองก็ได้มีการหยิบนำคำ ๆ นี้มากล่าวถึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เป็นคนทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็สามารถทำความรู้จัก…สามารถรู้ไว้ใช่ว่ากับคำ ๆ นี้…

Covid-19 global economic crisis

คล้ายเรื่องผีดิบอย่างไร??…มาดูกัน…

สำหรับ “คำเศรษฐกิจไม่คุ้นหู” อย่างคำว่า… “เศรษฐกิจซอมบี้-ธุรกิจผีดิบ” นั้น ทาง สุพริศร์ สุวรรณิก นักวิชาการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ให้คำอธิบายถึง “ศัพท์เศรษฐกิจ” คำนี้เอาไว้ ผ่านทางบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนักวิชาการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้อธิบายถึงศัพท์คำนี้ด้วยการเริ่มต้นจาก ’ปุจฉา“ ที่ว่า… บริษัทผีดิบคืออะไร? ก่อนที่จะมีการขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ ดังต่อไปนี้…

เฉพาะคำว่า “ซอมบี้ (Zombie)” หรือ “ผีดิบ” นั้น คงจะเป็นคำที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว สำหรับแฟน ๆ ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับฝูงชนที่ติดไวรัสชนิดหนึ่งและเสียชีวิต แล้วกลับฟื้นคืนชีพ แต่มาพร้อมกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว นั่นคือการ หันมาตามล่าวิ่งไล่กัดกินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน… แต่บางท่านก็อาจจะยังไม่ทราบว่า… อันที่จริงศัพท์คำนี้มีการขยายวงมาสู่วงการเศรษฐศาสตร์มานานมากแล้ว ผ่านคำว่า… ’Zombie firms“ ที่ถ้าแปลเป็นภาษาไทยนั้น…

มีความหมายคือคำว่า บริษัทผีดิบ

Market share and competitor for excellent growing with stocks

ทั้งนี้ นักวิชาการท่านเดิมขยายความเรื่องนี้ไว้เพิ่มเติมว่า… ศัพท์คำนี้ได้เริ่มมีการนำมาใช้แพร่หลายขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับ “บริษัทผีดิบ” หรือ “Zombie firms” เป็นจำนวนมาก โดยการ นำคำ ๆ นี้มาใช้เรียกนั้น ไม่ได้หมายถึงบริษัทที่ติดไวรัส ซึ่ง…คำถามสำคัญที่ตามมาคือ บริษัทผีดิบคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นไร? โดยหากเป็นนิยามตามกลไกตลาด ได้ให้คำจำกัดความ “บริษัทที่ดี” ไว้ว่า… คือ บริษัทที่มีผลิตภาพ (productivity) อยู่ในระดับสูง และ มีความสามารถทำกำไรที่สูง

ขณะเดียวกันในทางตรงกันข้าม… สำหรับบริษัทที่มีผลิตภาพต่ำ มีความสามารถในการทำกำไรต่ำ หรือขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นบริษัทที่ต้องปิดตัวลงและออกไปจากการแข่งขันในที่สุด อย่างไรก็ตาม แต่ยัง มีบริษัทส่วนหนึ่งที่มีผลิตภาพต่ำ ไม่มีความสามารถในการทำกำไร แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ได้จากสภาพคล่องที่ได้รับเพื่อหล่อเลี้ยงต่อชีวิตบริษัท ไม่ว่าจะได้จากสินเชื่อสถาบันการเงินภายใต้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือได้รับความช่วยเหลือจากรัฐแบบเหวี่ยงแห ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็คือ ’บริษัทผีดิบ“ หรือ ’Zombie firms“ นั่นเอง …เป็นคำอธิบายที่นักวิชาการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ให้ไว้

และทางนักวิชาการท่านนี้ คือ สุพริศร์ สุวรรณิก ก็ได้ขยายความเรื่องนี้เอาไว้อีกว่า… ในทางเศรษฐศาสตร์ “บริษัทผีดิบ” คือ… “บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรในปัจจุบันและในอนาคตได้มากเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ของบริษัทได้ในระยะเวลานานต่อเนื่อง” หรือถ้าแบบภาษาชาวบ้านก็คือ… ’เป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว“ นั่นเอง

Tired overworked businessman sleeping

ส่วนคำถามที่ว่า… ถ้ามีบริษัทผีดิบแบบนี้จำนวนมากในระบบเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบอย่างไร? คำตอบของคำถามนี้มีไว้ว่า… การให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ควรล้มหายตายจากให้ยังคงมีชีวิตอยู่ นอกจากจะทำให้บริษัทเหล่านี้ ขาดแรงจูงใจในการปรับตัวและพัฒนาผลิตภาพ แล้ว… กลไกการแข่งขันทั้งระบบจะถูกบิดเบือน เพราะบริษัทผีดิบจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินยังคงอยู่ และอาจคอยตัดราคาคู่แข่งจนทำให้ธุรกิจอื่นที่มีความสามารถในการปรับตัว และมีผลิตภาพสูง กลับอยู่รอดยาก ไม่สามารถแข่งขันได้ …ซึ่ง ’บริษัทผีดิบ“ ก็ ’ไม่ต่างกับผีดิบซอมบี้“ ที่ไล่กัดกินเนื้อคนอื่นจนล้มตาย

’แม้สัดส่วนบริษัทผีดิบของไทยจะอยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะมีแนวโน้มจะมีบริษัทขนาดใหญ่กลายเป็นบริษัทผีดิบได้เช่นกัน ดังนั้นภาครัฐควรลดการออกมาตรการช่วยเหลือแบบเหวี่ยงแหที่ขาดประสิทธิผลและไม่คุ้มค่า แต่ควรเน้นให้ตรงจุดกับธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษจะดีที่สุด“ …นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้

      ’ธุรกิจซอมบี้“ ไล่ ’กัดกินธุรกิจอื่น ๆ“

      ขยายวง ’ก่อปัญหาเศรษฐกิจซอมบี้“

      ’ในไทย“ นั้น ’ก็เสี่ยงระทึกขวัญ??“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่