วันที่ 1 ตุลาคม นอกจากจะเป็นวันแรกการเริ่มต้นเกษียณ ของคนที่ทำงานในระบบราชการแล้ว ยังเป็นวันผู้สูงอายุสากลและปี 2021 ยังเป็นปีที่ผู้สูงอายุต้องเสียชีวิตจำนวนมาก จากการระบาดของโควิด-19

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) ร่วมกับ ภาคีสร้างสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ : ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ผู้สูงอายุไทยอยู่ส่วนไหนของโลก” ผ่านโปรแกรมซูม โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย ดร.ณปภัช สัจนวกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนา และ นายวิรัตน์ สมัครพงศ์ (ครูรัตน์)  เจ้าของเพจ เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ?

ดร.ณปภัช  กล่าวว่า  วันผู้สูงอายุสากล ปี 2021 เป็นยุคโควิด-19 มีการกำหนดธีม คือการพยายามสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงเทคโนโลยีและดิจิทัลในผู้สูงอายุ นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และระบบดิจิทัลต่างๆ จึงต้องพยายามทำให้มีการเข้าถึงมากที่สุด สำหรับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย ขอยกข้อมูลรายงาน ที่มูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสถาบันวิจัยประชากรไทยและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำร่วมกัน โลกมีประชากรประมาณเกือบ 8,000 ล้านคน มีผู้สูงอายุประมาณ 1,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 10 % ของประชากรทั้งหมด ยุโรปและทวีปเอเชีย มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ในส่วนของอาเซียนมี 10 ประเทศ  และประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นสังคมสูงวัยแล้ว คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตอนนี้มี 11 %  และมี 7 ประเทศ เป็นสังคมสูงวัยแล้ว มีเพียง 3 ประเทศที่ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและ สปป.ลาว

ทั้งนี้ประเทศไทยและสิงคโปร์ถือว่าเข้มข้นที่สุด โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 ที่จะถึงนี้ พูดง่ายๆ คือเดินมา 5 คน จะต้องมีผู้สูงอายุแน่นอน

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปี ก่อน 2513 เรามีประชากรสูงอายุแค่ 5 % แต่วันนี้เรากลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วมาก  และอีก 10 ปี หรือปี 2574 เราจะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุดหรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด เหมือนญี่ปุ่น คือมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด ซึ่งรุนแรงและรวดเร็วมาก ถ้าเทียบกับตะวันตกที่ผ่านสังคมสูงวัยมาก่อนหน้านี้โดยใช้เวลามากกว่า 100 ปี จากการเปลี่ยนจากสังคมสูงวัย มาเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่ประเทศไทยถ้านับย้อนไป คือตั้งแต่ปี 2548 -2565 เราใช้เวลาเพียง 17  ปีเท่านั้น

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว นับเป็นเรื่องท้าทายต่อไป สืบเนื่องมาจากนโยบายคุมกำเนิดได้ดี และระบบการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นทำให้คนมีอายุยืนยาว

อย่างไรก็ตามจำนวนประชากรที่เกิดปี 2506-2526 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเกิดมากกว่า 1 ล้านคน และเวลานี้กลายเป็นผู้สูงอายุแล้ว เปรียบเสมือน “คลื่นสึนามิประชากร” กำลังพัด เข้ามาในโครงสร้างอายุประชากรไทย โดยในปีในปี 2583  หรืออีก 20 กว่าปีข้างหน้า  ตัวเลขผู้สูงอายุ 12 ล้านคนในวันนี้ จะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไป ที่เรามีอยู่ 1.4 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านคน

ดร.ณปภัช ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 9.6 ล้านคน  ใช้งบประมาณไป เกือบ 8 หมื่นล้านบาท 2.ผู้สูงอายุที่ได้รับบำเหน็จ 8 แสนกว่าคน ใช้งบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาท และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ จากองทุนประกันสังคม 5.9 แสนคน ใช้งบประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ละกลุ่มได้รับความมั่นคงทางด้านรายได้ แตกต่างเหลื่อมล้ำกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มากเกินกว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน โดยเรามีผู้สูงอายุรายได้น้อยเกินกว่า 5 ล้านคน

ดร.ณปภัช ให้ข้อเสนอแนะ 4 ข้อ  เพื่อรองรับสังคมสูงวัย คือ 1.  อีก 20 ปีข้างหน้าที่ผู้สูงอายุจะเพิ่มจะเป็น 21 ล้านคน ดังนั้นรับต้องเปลี่ยนแนวคิดจากการสร้างที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน มาส่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเดิม และชุมชนเดิมให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่รัฐเติมบริการเข้าไป  ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาดูแลผู้สูงอายุในลักษณะนี้แล้ว 2. ต้องทำให้เกิดสังคมสูงวัยอย่างมีพลัง มีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีส่วนร่วมมีอิสระ จะช่วยลดภาระของรัฐลงได้  3. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ให้เข้าถึงระบบดิจิทัลให้มากขึ้น และ 4. ต้องทำให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มีความมั่นคงทางรายได้ ให้เป็นสิทธิแทนการสงเคราะห์  

ดร.นพ.ภูษิต กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงวัยในมุมองของแพทย์ หรือบุคลากรด้านสาธารณสุข คิดว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง ผู้สูงอายุต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ต้องหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น ต้องปรับตัวการใช้ดิจิทัล ที่จะทำให้สามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐ ในอนาคตการไปโรงพยาบาลจะทำได้น้อยลง เพราะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้สูงอายุไทยมีได้น้อย เพราะเรื่องการศึกษา และฐานะทางเศรษฐกิจ คนในครอบครัวหรือชุมชน ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้สูงอายุในจุดนี้ด้วย

นางภรณี  ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ การพัฒนากิจกรรม กระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ รวมถึงการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย Young Happy พัฒนาหลักสูตร “เกษียณคลาส” ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ภายใต้แนวคิดที่ว่า บทเรียนวัยเกษียณ ที่จะเปลี่ยนชีวิตให้แฮปปี้ โดยเน้นสนุก เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง รวมทั้งสิ้นกว่า 15 บทเรียน ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเทคโนโลยีควบคู่กับการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อเรียนรู้สิ่งสำคัญก่อนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล ที่พัฒนาระบบโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หลักสูตรนี้ครอบคลุมด้านสุขภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจ สภาวะแวดล้อม การประกอบอาชีพ ฯลฯ ที่สำคัญคือ เมื่อเรียนครบหลักสูตรแล้ว สามารถเก็บเป็นหน่วยกิต สำหรับการศึกษาในระบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อไปได้อีกด้วย โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการมีสุขภาวะ มีความสุข และเป็นพลังของสังคมอย่างต่อเนื่อง

“ตั้งเป้าพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างรายได้สร้างความสัมพันธ์กับครอบครัว ซึ่งยูทูปซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด หากผู้สูงอายุยังต้องการทำงานสร้างรายได้ลูกหลานอย่าไปห้าม เพราะทำให้เขาเกิดความแอคทีฟ หาสิ่งที่ตัวเองรักชอบ และถนัด” “ครูรัตน์” เจ้าของเพจ เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ ให้แนวคิดสูงวัยอย่างไรให้สำราญ

อีก 3 เดือนข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอายุอย่างสมบูรณ์ เหล่านี้คือปัญหาท้าทายนโยบายภาครัฐ  จะทำงานเชิงรุกอย่างไรเมื่อสร้างสังคมผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน