วันฉัตรมงคล” แห่งรัชสมัยพระผู้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยนับแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ว่า… “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” นับเป็นโอกาสมหามงคล และเป็นอีกโอกาสอันสำคัญยิ่งที่ปวงไทยทุกหมู่เหล่าจะได้น้อมจิตรวมใจร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่ง “ในหลวงรัชกาลที่ 10” อันล้นพ้นยิ่งหาที่สุดมิได้…

ฉัตรมงคล” เป็นวันอันสำคัญยิ่งสำหรับปวงไทย…โดยนับแต่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เริ่มมี พระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ… “พระราชพิธีฉัตรมงคล” ซึ่งจากข้อมูลเผยแพร่ในส่วนขององค์ความรู้ส่งเสริมการอ่านผ่านออนไลน์ เรื่อง “วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม” ในเว็บไซต์กรมศิลปากร เรียบเรียงโดยนักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี ได้ระบุไว้ว่า… พระราชพิธีฉัตรมงคลเป็นพระราชพิธีที่กำหนดให้มีขึ้นโดยถือ วันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละรัชกาล ซึ่งถือเป็น “วันมหามงคลสมัย”

ในการพระราชพิธีฉัตรมงคล” นั้น…พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล สมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นการฉลองครบรอบปีที่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก และเพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เพื่อทรงอุทิศกุศลสนองพระเดชพระคุณให้เป็นการเชิดชูพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ และพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยโดยทั่วไป

พระราชพิธีฉัตรมงคลที่ได้เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แต่เดิมเป็นเพียงการสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามพระราชพิธีนี้ว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” ซึ่งมีการจัดงาน 4 วัน ในเดือน 6 และต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชพิธีฉัตรมงคลนี้ยังคงมีการทำในเดือน 6 จนถึงปี พ.ศ. 2417 จึงได้มีการเปลี่ยนเป็นทำในเดือน 12 อันเป็นเดือนที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก

นอกจากสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์…จากข้อมูลในแหล่งดังกล่าวระบุไว้อีกว่า… ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การพระราชพิธีฉัตรมงคลได้เพิ่ม การพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็น การบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ขณะยังทรงพระเยาว์ และยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก การพระราชพิธีจึงคงทำในนามพระราชพิธีรัชมงคล จนต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 9 ได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พสกนิกรไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล

และนอกจากวันฉัตรมงคลและพระราชพิธีฉัตรมงคล…ย้อนไปเมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนหนึ่งจากบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญยิ่ง ในหนังสือ “๗๐ ปี ครองราชย์ มหากษัตริย์ประชาธิปไตย” บันทึกไว้ว่า… เมื่อสิ้นสุดเสียงประโคมแล้ว พระราชครูวามเทพมุนีถวายอนุษฎุภศิวเวทวิษณุมนตร์ และถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการตอบพระราชทานอารักขาแด่ประชาชนไทย และทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจปกครองราชอาณาจักรไทยโดยทศพิธราชธรรมจริยา ว่า“…เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม…” …นี่คือ “พระปฐมบรมราชโองการแห่งรัชกาลที่ 9” ซึ่งนับเป็นพระเมตตาล้นพ้น และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อปวงไทย

กล่าวสำหรับวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน… ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10” รัชกาลปัจจุบัน วันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดย การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ดังนั้น “วันฉัตรมงคล” ในรัชสมัยปัจจุบัน จึงตรงกับ “วันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี” …ดังที่ ณ ที่นี้ได้ระบุข้างต้นว่าฉัตรมงคลมีความเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

การ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” แห่งพระมหากษัตริย์ไทยนับเป็นพระราชพิธี “มหามงคลยิ่งแห่งแผ่นดินไทยและปวงไทยทุกหมู่เหล่า”เป็นหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญสูงสุดของปวงไทย ที่ชาวต่างชาติทั่วโลกต่างก็รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ และร่วมแซ่ซ้อง ดังมีบันทึกในหนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในเอกสารต่างประเทศ” ที่พิมพ์เผยแพร่โดยกรมศิลปากร ซึ่งรวบรวมเรื่องราวที่ชาวต่างชาติบันทึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 โดยบางช่วงบางตอนนั้นได้แปลรายงานพิเศษพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในสมัยรัชกาลที่ 6 จากข้อมูลโดยผู้สื่อข่าวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพระราชพิธีฯ ที่ตีพิมพ์ใน “หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์” ของสหรัฐอเมริกา

เนื้อความสำคัญบางช่วงบางตอนมีว่า… “ไม่อาจสรรหาคำพูดใด ๆ มาบรรยายถึงสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาได้…” “ภาพความฝันอันน่ามหัศจรรย์อย่างที่สุดก็ได้มาปรากฏเป็นจริง…” “เป็นภาพที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่…” “ความงดงามและความยิ่งใหญ่อลังการของพระราชพิธีดังกล่าวนั้นสุดที่จะพรรณนาได้…” …นี่เป็นความรู้สึกของชาวต่างชาติ

ความรู้สึกดังกล่าวของชาวต่างชาติที่มีต่อ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นับแต่ครั้งอดีตนั้น…ในปี พ.ศ. 2562 ก็บังเกิดขึ้นกับชาวต่างชาติทั่วทุกมุมโลกอีกครั้ง เช่นเดียวกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับปวงไทยทุกหมู่เหล่า อันสืบเนื่องจากมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”

และที่สำคัญ ที่ปวงไทยยิ่งรู้สึกปลื้มปีติ คือ… “พระปฐมบรมราชโองการแห่งรัชกาลที่ 10” ความว่า… “…เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป…”

ทั้งนี้ “…เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป…” อันเป็น “พระปฐมบรมราชโองการ” แห่ง“พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”ในโอกาสการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นั้น…ฉายชัดถึงการที่ ทรงมีน้ำพระทัยเมตตาอย่างล้นพ้นยิ่งต่อปวงไทยทุกหมู่เหล่า และก็เป็นที่ประจักษ์ชัดสืบมาจวบจนปัจจุบัน…

“วันฉัตรมงคลแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” วันที่ “4 พฤษภาคม” เวียนบรรจบ… เนื่องในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ ปวงไทยน้อมจิตรวมใจสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นยิ่งหาที่สุดมิได้ แห่ง “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” …ปวงไทยทุกหมู่เหล่าน้อมจิตรวมใจ นบน้อมศิระกราน ถวายพระพรชัย…
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน