“1 พฤษภาคม” ที่ถูกกำหนดเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เวียนมาถึงอีกครั้ง ซึ่งการกำหนดวันนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นการยกย่องและขี้ให้เห็นถึง “ความสำคัญของแรงงาน” … นอกจากนี้ การกำหนดให้มีวันแรงงานก็ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการ “พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” ทั้งด้านความเป็นอยู่ สิทธิอันชอบธรรม รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือ ที่ผู้ใช้แรงงานทุกคนควรได้รับ อย่างไรก็ตาม ในยุคดิจิทัล “แรงงานไทยยุดใหม่ต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านมากขึ้น” ต้องปรับตัวมากขึ้นเพื่อ “รับมือกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล” ที่ถาโถมสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งถ้าสามารถทำได้ก็จะช่วย “เพิ่มมูลค่า ของแรงงาน”…

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นต้อง “เช็กสุขภาพ ตลาดแรงงานไทย” ก่อน!! ว่า. .พร้อม-ไม่พร้อมแค่ไหน? มีจุดใดที่ ต้องช่วยเหลือ? โดยกับเรื่องนี้วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อน ต่อข้อมูลจากบทวิเคราะห์โดย ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้ผ่านบทความ “พลิกระบบพัฒนาทักษะ เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทยในยุคดิจิทัล” โดยมีการเผยแพร่อยู่ใน www.scbeic.com ซึ่งบทวิเคราะห์เรื่องนี้ “น่าสนใจ” และก็มี “ข้อเสนอแนะน่าพิจารณา”…

เพื่อที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันพลิกกลยุทธ์
ภายใต้ความท้าทายของแรงงานไทย
เพื่อจะ “อัปเกรดตลาดแรงงานไทย”…

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์โดย ดร.ฐิดิมา ได้มีการสะท้อนถึง “ความท้าทายของตลาดแรงงานไทย” ไว้ว่า หลังวิกฤติโควิด-19 เป็นต้นมา หากลอง “X-ray ตลาดแรงงานไทย” ให้ลึกลงไปแล้วนั้น. .ก็จะพบเห็นว่า “มีความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง” ที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ซึ่งส่วนหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้งของตลาดแรงงานไทยที่มีอยู่เดิม โดยมี “วิกฤติโควิด-19” มาทำให้ “เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจเพิ่ม” จนส่งผลทำให้ “ประสิทธิภาพการจัดสรรแรงงานไทยลดลง” ที่สังเกตเห็นได้จาก… โครงสร้างการจ้างงาน คุณภาพแรงงานและค่าจ้างแรงงานไทย ยังไม่ค่อยดีนัก กับ 3 มิติหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

มิติที่ 1 โครงสร้างการจ้างแรงงานไทยมีสัดส่วนใหญ่ขึ้นในสาขาการผลิตที่มูลค่าเพิ่มไม่สูง โดยในมิตินี้พบว่า มีแรงงานไทยที่อยู่นอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่ง และส่วนหนึ่งย้ายไปทำงานภาคเกษตร ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวนี้ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า. แม้โควิด-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่สัดส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงลดลงเพราะแรงงานไทยหันไปทำงานในธุรกิจบริการต่าง ๆ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจขายส่งขายปลีก ภาคการขนส่ง บริการสุขภาพ

มิติที่ 2 ผลิตภาพแรงงานไทยมีสภาพฟื้นตัวได้ช้า โดยพบว่า… มูลค่าผลผลิตต่อหน่วยแรงานยังมีระดับต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 สะท้อนว่าคุณภาพแรงงานไทยยังไม่กลับไปเป็นเช่นเดิม ซึ่งผลิตภาพแรงงานไทยเติบโตแค่ราว 1% ในปี 2566 มีสาเหตุหลักจากการที่แรงงานไทยในภาพรวมยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมได้มากเช่นเดิม อีกทั้งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงานไทยที่ต้องย้ายสาขาการผลิตนั้น ไม่สามารถปรับทักษะใหม่ให้กับตนเองเพื่อให้กลับไปทำงานเดิมได้ ในขณะที่แรงงานบางส่วนที่ถึงแม้จะได้งานใหม่ แต่ก็กลับมีการใช้ทักษะในระดับที่ต่ำลงจากการทำงานแบบเดิม

มิติที่ 3 ระดับค่าจ้างของแรงงานไทยแย่ลง ที่ถึงแม้คนไทยจะเรียนสูงขึ้น แต่กลับพบว่าดัชนีค่าจ้างแรงงานไทยมีทิศทางลดลงเฉลี่ย-1% ต่อปีในช่วง5 ปีก่อนจะมีวิกฤติโกวิด-19 ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนว่า แรงงานไทยโดยรวมเรียนสูงขึ้น แต่เฉลี่ยแล้วกลับได้ค่าจ้างต่อคนต่ำลง โดยเฉพาะค่าจ้างของแรงงานภาคบริการที่มีมูลค่าผลผลิตต่อคนไม่สูงนัก โดยมีเฉพาะแรงงานในกลุ่มการเงินและประกัน สาธารณูปโภค ศิลปะบันเทิงและนันทนาการ ที่มีดัชนีค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น

…นี่เป็น “ปัญหาท้าทายแรงงานไทย”

ทาง ดร.ฐิติมา ยังได้ชี้ไว้ถึง “โจทย์ท้าทายตลาดแรงงานไทย” ยุคนี้ว่า ความท้าทายที่สำคัญที่สุดเวลานี้คือ “การเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล” ที่มาเปลี่ยนวิถีการทำงานเกือบทั้งหมดของแรงงานปัจจุบันซึ่งถ้าปรับตัวทัน กรณีนี้ก็จะกลายเป็นโอกาส แต่ถ้าเพิกเฉย ปรับตัวไม่ทัน จะกลายเป็นภัยต่อภาคแรงงานจนอาจ “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล รวมถึงทำให้การเลื่อนระดับชั้นทำได้ยากมากขึ้น จนทำให้ต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะต่ำลง หรือใช้ความสามารถไม่เต็มศักยภาพ และยอมรับค่าจ้างที่ลดต่ำลง …นี่เป็น “ปัญหาใหญ่ของแรงงานไทย” ที่ “จำเป็นต้องแก้โจทย์ให้ได้!!”

แล้ว “แรงงานไทยจะพลิกมูลค่าในยุคดิจิทัลได้อย่างไร??” เรื่องนี้ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผอ.ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงินศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็มี “ข้อเสนอแนะ” ไว้ว่า… ควรมีหน่วยงานกลางที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน แรงงาน, ควรสร้างแพลตฟอร์มปรับทักษะดิจิทัล สำหรับแรงงานทุกคน โดยมีคอร์สที่หลากหลาย-ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์แรงงานที่แตกต่างกันแต่ละช่วงวัย รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการจ้างงานของธุรกิจสาขาต่าง ๆ, ควรสร้างแรงจูงใจให้คนไทยสนใจเข้ารับการปรับทักษะพื้นฐานชีวิตใหม่ ผ่านแนวทาง-มาตรการต่าง ๆ จากภาครัฐ อาทิ คูปองเงินอุดหนุน หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี…นี่เป็นข้อเสนอเพื่อ “เพิ่มมูลค่าตลาดแรงงานไทย”…

ภายใต้ความท้าทาย… “โลกยุคดิจิทัล”
“แรงงานไทย” ก็ดูจะ “ยิ่งเสี่ยงถูกทิ้ง”
“รัฐยิ่งต้องใส่ใจ” ใส่ใจคุณภาพชีวิต.