ภายใต้คุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล จำนวน 2 ข้อคือ เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว
เกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของประเทศไทยและแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
นายนภสินธุ์ บุญล้อม นักโบราณคดีชำนาญการ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงคุณค่าสำคัญของภูพระบาทว่าโขดหินและเพิงหินธรรมชาติที่งดงามแปลกตา กระจายตัวอยู่บนเทือกเขาภูพานจำนวนมาก เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะพังทลายจึงเกิดเป็นเพิงหินประหลาด รูปร่างแปลกตา คนก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ โดยทิ้งหลักฐานคือภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์รูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปคน รูปสัตว์ รูปฝ่ามือ รูปเรขา คณิต จำนวนมากกว่า 47 แห่ง
เมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง พุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนบริเวณนี้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยทวารวดีของประเทศไทย เพิงหินเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยน ให้มาทำหน้าที่สำคัญทางพุทธศาสนา โดยมี 7 เพิงหิน และ 1 ลานหิน มีการติดตั้ง “ใบสีมา” เป็นขอบเขตพัทธสีมา เป็นเครื่องแสดงว่าเพิงหินแห่งนี้เป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของภิกษุสงฆ์ ฝ่ายเถรวาท บนภูเขาแห่งนี้มีอยู่ 8 จุดที่มีใบเสมาล้อมรอบ
นอกจากนี้ยังมีอีก 13 แห่งเป็น เพิงหินธรรมดาที่ไม่มีเสมาล้อมรอบแต่มีการสกัดตกแต่งพื้นที่ให้เป็นห้องเล็ก ๆ ห้องโค้ง ๆ เพิงหินเหล่านี้ถูกใช้ประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน ความหมายอาจจะเป็นที่นั่งพัก ที่นั่งวิปัสสนาที่นั่งสมาธิ รวมอยู่ด้วย และยังมีบ่อนํ้าที่คนขุดขึ้นมาหนึ่งแห่ง ขุดลงไปในหินที่เรียกว่า “บ่อนํ้านางอุสา”
“เราได้มรดกโลกคือเรามีแหล่งคุณค่าธรรมชาติที่สวยงาม มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม พบแหล่งอยู่อาศัยคนมานานแล้วและคุณค่าสำคัญ ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ รับการประกาศเขตสีมาถึง 8 จุด และมีสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนาจำนวนมาก ขณะที่พุทธศาสนิกชนยังเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ปฏิบัติศาสนกิจ ทั้งกราบไหว้บูชาพระ เวียนเทียน และมีการควบคุมไม่ให้ใช้พื้นที่ไปทางมูเตลูใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะผิดหลักข้อมูลทางศาสนาที่เป็นหลักวิชาการ”
หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท กล่าวว่า เฉลี่ยเดือนหนึ่งมีผู้คนมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ประมาณ 1 พันคน พื้นที่แห่งนี้สามารถมา เที่ยวได้ทุกฤดูกาล สำหรับนักท่องเที่ยวที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางท่องเที่ยวครบตามแผนที่ที่เรากำหนดไว้ให้ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. แต่คนไทยมี 3 ทางเลือกให้เลือกคือรอบเล็ก รอบกลาง รอบใหญ่ และไม่มีทางเลือกไปจุดเดียวแล้ว แต่ความสะดวก จุดไฮไลต์อยู่ช่วงหอนางอุสา ที่คนมักเช็กอินถ่ายรูปแล้วแยกย้าย สำหรับการเดินทางจากตัวเมืองอุดรธานีใช้เวลาในการขับรถประมาณ 1 ชม.
ภูพระบาทจัดว่าเป็นแหล่งวัฒนธรรมสีมา ในสมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและความหลากหลายของสีมา ที่เป็นสิ่งยืนยันถึงประเพณีทางพุทธศาสนาอันเป็นเอกลักษณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก
ไทม์ไลน์‘ภูพระบาท’สู่มรดกโลก
1. 1 เมษายน 2547 เสนอชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น เพื่อเตรียมพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก
2. การนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ดำเนินการครั้งแรกในปี 2558 โดย คณะกรรมการประเมินได้เสนอความเห็นว่า ข้อมูลของแหล่งที่นำเสนอไม่ได้ชี้ชัดว่ามีความโดดเด่น อย่างไรหรือในระดับใด เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นที่คล้ายคลึงกันในด้านของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศาสนา จึงเสนอให้เลื่อนการพิจารณาการนำเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกของแหล่งออกไปก่อน
3. ปี 2559 ประเทศไทยถอนชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทออกจากบัญชีรายชื่อก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ 40 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี
4. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการ รัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจที่เสนอมาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้านวัฒนธรรม โดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลก โดยเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำรวจและผลักดันการขึ้นทะเบียนแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก เพื่อดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว
5. คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งเล็งเห็นศักยภาพในการเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จึงได้มีคำสั่ง ที่ 1/2563 ณ วันที่ 10 มกราคม 2563 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก
6. เอกสารนำเสนอฯ ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านการพิจารณาของคณะทำงาน ขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565
7. เอกสารนำเสนอฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอิทธิพล คุณปลื้ม ประธานคณะอนุกรรมการมรดกโลก ทางวัฒนธรรม เป็นประธานในการประชุม
8. เอกสารนำเสนอฯฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานในการประชุม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ
9. เอกสารนำเสนอฯฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการส่งข้อมูลถึงองค์การร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (UNESCO) ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
10. เอกสารนำเสนอฯ ได้รับการส่งจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 และถึงองค์การร่วมมือทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (UNESCO) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566
11. การตรวจประเมินอย่างเป็นทางการโดยผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) องค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ตัวแทนของคณะกรรมการฯ หนึ่งท่านได้เดินทางมาตรวจประเมินในพื้นที่ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ในระหว่างวันที่ 4-7 สิงหาคม 2566
12. สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ขอความร่วมมือให้รัฐภาคี (ประเทศไทย) จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตรวจประเมิน โดยขอให้จัดส่งไปภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดส่งข้อมูลตามที่อิโคโมส ขอความร่วมมือ ตามกำหนดเวลา
13. สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ขอความร่วมมือให้รัฐภาคี (ประเทศไทย) จัดส่งตัวแทนจำนวน 4 ท่าน เข้าร่วมประชุมเพื่อประเมิน การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กรมศิลปากรได้จัดส่งตัวแทนจำนวน 4 ท่าน เข้าร่วมประชุม ตาม กำหนดเวลา
14. สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (อิโคโมส) ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ขอความร่วมมือให้รัฐภาคี (ประเทศไทย) จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตรวจประเมิน โดยขอให้จัดส่งไปภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งกรมศิลปากรได้จัดส่งข้อมูลตามที่อิโคโมสขอความร่วมมือ ตามกำหนดเวลา
15. ศูนย์มรดกโลก ได้ประสานสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก แจ้งผลการประเมินการนำเสนอ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก โดยองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ได้แก่ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ได้แจ้งเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์การนำเสนอคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล คือ เกณฑ์ข้อที่ 3 และ ข้อที่ 5 ในกลุ่มภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้ขึ้นทะเบียน ภายใต้ชื่อใหม่ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี”
16. การประชุมตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลกจะเกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 21-31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะมีการประกาศผลการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อย่างเป็นทางการในการประชุม.
พรประไพ เสือเขียว