กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นขั้นตอนแรกของการดำเนินการอันละเอียดอ่อน ขององค์การบริหารสัตว์ป่าเคนยา (เคดับเบิลยูเอส) ในการเคลื่อนย้ายกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ไปยังเขตอนุรักษ์แห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 140 กิโลเมตร

ยีราฟที่ถูกจับตัวนี้ จะถูกเลี้ยงอยู่ที่ฟาร์มในเมืองเซอร์โกอิต พร้อมกับยีราฟอีก 7 ตัว โดยใช้เวลาปรับตัวประมาณ 10 วัน ก่อนที่พวกมันจะถูกย้ายไปยังบ้านใหม่ทั้งนี้ ยีราฟรอทส์ไชลด์ ซึ่งเป็นยีราฟชนิดย่อยที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ จะได้ที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในเขตอนุรักษ์รูโค ในเขตบาริงโก ตามส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน เพื่อบรรเทาความตึงเครียดของชุมชนในพื้นที่

แม้เคนยา มีชื่อเสียงในด้านสัตว์ป่าที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่พื้นที่ทางตอนเหนืออย่างเขตบาริงโก มักตกเป็นข่าวในประเด็นการโจรกรรม และการปะทะทางชาติพันธุ์ โดยชุมชนโปกอต กับชุมชนอิลชามุส มีความขัดแย้งต่อกันมานานหลายสิบปี ซึ่งในบางครั้ง ความบาดหมางระหว่างสองชุมชน ก็ลุกลามจนกลายเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธ

AFP

กระทั่งช่วงกลางทศวรรษที่ 2000 บรรดาผู้อาวุโสจากทั้งสองชุมชน ได้ตัดสินใจจัดการเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยเปิดตัวโครงการริเริ่มที่จะย้ายยีราฟรอทส์ไชลด์ หรือยีราฟนูเบียน เข้าสู่เขตอนุรักษ์รูโค ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงไนโรบี ไปทางเหนือประมาณ 280 กิโลเมตร

เป้าหมายของโครงการนี้มี 2 ประการ นั่นคือ การนำสายพันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์กลับสู่ภูมิภาค และการฟื้นคืนความสงบสุขให้กับชุมชนโปกอต และชุมชนอิลชามุส โดยผู้อาวุโสของทั้งสองชุมชนต่างหวังว่า ยีราฟเหล่านี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยว, สร้างรายได้ และบรรเทาความตึงเครียดในภูมิภาคที่ถูกทอดทิ้งแห่งนี้ ด้วยการจ้างงาน ซึ่งดูเหมือนว่าโครงการดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผล

“ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ชุมชนโปกอต และชุมชนอิลชามุส มีความขัดแย้งเนื่องจากการขโมยปศุสัตว์ ซึ่งทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและปศุสัตว์ ตลอดจนผลักดันให้ผู้คนย้ายออกจากบ้านเกิดของพวกเขา แต่ในปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตที่อ่อนโยนเหล่านี้ กำลังช่วยรับประกันว่าจะมีสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างสองชุมชน” นางเรบบี เซเบอี ผู้จัดการเขตอนุรักษ์ วัย 34 ปี กล่าว

อนึ่ง ยีราฟในเคนยา มีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากการลักลอบล่าสัตว์ และการบุกรุกที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์

ขณะที่ผู้คนต่างร้องเพลงและเต้นรำ เพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของยีราฟตัวใหม่ ชาวเคนยาหลายคนจากชุมชนโปกอต และชุมชนอิลชามุส ต่างเชื่อว่าชุมชนของพวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในตอนนี้ พวกเขาเห็นว่าทั้งสองชุมชนเป็นชุมชนเดียวกัน พวกเขาคิดว่าความขัดแย้งยุติลงแล้ว และพวกเขาหวังว่า ยีราฟเหล่านี้จะสร้างงานที่ยอดเยี่ยมให้กับชุมชน

อย่างไรก็ตาม เซเบอีเตือนว่า แม้การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสามารถช่วยเหลือชุมชนได้ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองกลุ่ม ยังคงมีข้อพิพาทบางอย่างระหว่างกันอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า สันติภาพมีอยู่จริง และเขตอนุรักษ์จำเป็นต้องนำยีราฟเข้ามาอีก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP