“…สาขานี้เปิดสอนตั้งแต่ปี 2562 แล้ว โดยมีนักศึกษาที่จบไปแล้วราว 50 คน และมีแนวโน้มที่เด็ก ๆ อยากจะเข้ามาเรียนสาขาวิชานี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน“…เป็นการระบุจาก อ.จันทร์จิรา ภมรศิลปธรรม หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของ “โรงเรียนอาชีวะ” ที่มีการ “พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน” เพื่อให้ “ตอบรับความต้องการของตลาดแรงงานปัจจุบัน” และหนึ่งในสาขาวิชาที่เปิดเพื่อรองรับสังคมไทยยุคใหม่ “ยุคสังคมผู้สูงอายุ“นั้นคือ…
“สาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ“
ที่มีการเรียกอาชีพนี้ว่า “Caregiver“
ทั้งนี้ อ.จันทร์จิรา หัวหน้าสาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์ ได้มีการพูดถึงสาขาวิชาที่เปิดขึ้นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เมื่อครั้งที่เรามีโอกาสติดตามคณะผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. เยี่ยมชมผลการดำเนินงานของวิทยาลัยอาชีวะดังกล่าว หลังได้รับการสนับสนุน “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง“ซึ่งมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยที่วิทยาลัยอาชีวะแห่งนี้ได้รับทุนดังกล่าว 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย กับ สาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ
สาเหตุที่ทำให้สถานศึกษาแห่งนี้เปิดการเรียนการสอนสาขานี้ หรือCaregiver นั้น หัวหน้าสาขาวิชาคนเดิมกล่าวว่า… เนื่องจากสังคมไทยปัจจุบันและสังคมโลกกำลังเผชิญปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ จากการที่ประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้บางครอบครัวอาจไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา หรือเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่โดยลำพัง ทำให้ “อาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ”หรือ “Caregiver” จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูงมาก และเพื่อเป็นการตอบรับกับความต้องการที่สูงมากขึ้นของตลาด กับเพื่อช่วยเหลือสังคมอีกทาง วิทยาลัยนี้จึงเปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาดังกล่าวนี้ ซึ่ง…
เพิ่มแต้มต่อทางอาชีพให้กับผู้เรียน…
และเป็นการโอบอุ้มผู้สูงวัยและสังคม
นอกจากการเปิดการเรียนการสอน “สาขาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ” จะเป็นการเติมเต็มความต้องการตลาดแรงงาน และช่วยโอบอุ้มสังคมในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้สูงอายุแล้ว การที่สาขาวิชาดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุน “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง” จากทาง กสศ. กรณีนี้ก็ยังช่วย “สร้างโอกาสทางการศึกษา” ให้กับ กลุ่มเด็กเปราะบาง ที่เข้าไม่ถึงการศึกษาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ กลุ่มเยาวชนที่มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีอยู่ราว ๆ ร้อยละ 20 ของประเทศ ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในสายอาชีพ หรือสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “สาขา Caregiver” นี้ด้วย ที่ได้ประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งกับเด็กและผู้สูงอายุโดยเด็กได้โอกาสชีวิต ส่วนผู้สูงอายุก็มีผู้ดูแล
สำหรับ “แต้มต่อ–โอกาสชีวิต” ที่ “เด็กกลุ่มเปราะบาง” ได้รับจากทุนนี้นั้น ลองมาฟัง “เสียงสะท้อนผู้ได้ทุน” อย่าง “น้องเก้า–อัญชลี เลาลิ” หนึ่งในนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเล่าความรู้สึกและแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากเรียนสาขาวิชานี้ว่า… เลือกเรียนสาขานี้เพราะชุมชนที่เธออาศัยอยู่ คือที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจำนวนหนึ่งเกิดปัญหาไร้คนดูแล มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เธอจึงมองว่าการเลือกเรียนสาขา Caregiver นี้น่าจะช่วยผู้สูงอายุได้ โดยเฉพาะการนำความรู้ที่เรียนมานำไปต่อยอดเพื่อดูแลผู้สูงอายุในถิ่นเกิดของเธอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุชนเผ่า
ขณะที่ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง” ที่ได้รับจาก กสศ.ที่ทำให้ได้เรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์นั้น น้องเก้าบอกว่า… เดิมเธอไม่ได้เรียน ปวช. เรียนจบชั้น ม.6 โดยคุณครูได้ขึ้นไปตามเธอถึงบ้าน พร้อมช่วยอธิบายให้พ่อแม่ครอบครัวเข้าใจถึง “โอกาสชีวิต“ถ้าได้เรียนสาขานี้ ที่จะทำให้เธอมีแต้มต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งเธอเล่าว่า… ตอนแรกครอบครัวก็ไม่ยอม เพราะอยากให้เธอทำงานในไร่ส้มของครอบครัว อีกทั้งสาขาที่เรียนครอบครัวก็ไม่รู้จัก จึงไม่อยากให้เรียน จนเธอถอดใจ และตัดสินใจว่าจะลงไปทำงานรับจ้างในเมืองเชียงใหม่ สลับกับมาช่วยงานในไร่ส้ม แต่สุดท้ายครอบครัวก็ยอมให้เธอเรียนในที่สุด
“ตอนแรกคิดว่าจะไม่เรียนแล้ว จะลงไปทำงานรับจ้างในเมือง ก็คงได้ค่าแรงวันละ 2-3 ร้อยบาท แล้วก็สลับมาช่วยงานไร่ส้ม จนคุณพ่อยอมตามที่ครูขอ เพราะเขาเองก็อยากให้เรามีอนาคตไปได้ไกลกว่าเขา ก็เลยได้เรียน แต่ครอบครัวก็อดห่วงไม่ได้ เพราะต้องมาเรียนไกลบ้าน ก็ต้องทำให้มั่นใจว่าเราดูแลตัวเองได้“ …นักศึกษาคนเดิมกล่าว
น้องเก้า ยังบอกกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ด้วยว่า… ดีใจที่ได้เรียนต่อ ซึ่งถ้าไม่ได้รับทุนนี้ เวลานี้ก็คงทำงานรับจ้างอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรือทำงานในไร่ส้ม ซึ่งการที่ได้เรียนต่อด้วยทุนนี้ ทำให้กล้าฝันถึงอนาคตข้างหน้าได้ไกลมากขึ้น โดยเธอตั้งใจว่า… เมื่อเรียนจบจะนำความรู้กลับไปช่วยดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเกิด หรืออาจมีโอกาสศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสอบยกระดับทักษะให้สูงขึ้น ซึ่งไม่แน่…เธออาจได้ไปทำงานต่างประเทศก็ได้ เพราะทราบจากอาจารย์ว่าอาชีพ ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Caregiver นี้ กำลังเป็นที่ต้องการมากในต่างประเทศ …นักศึกษาอาชีวะที่ได้รับทุนจาก กสศ. ระบุ ซึ่งจากคำบอกเล่าก็ฉายภาพได้ชัดว่า…
“ทุนสายอาชีพ“ ดีต่อ “เด็กเปราะบาง“
“เมื่อได้เรียน“ ทำให้ “มีแต้มต่อชีวิต“
“กล้าฝันถึงอนาคต“ ที่ “เป็นจริงได้“.