ก็ไม่ทราบว่า เมื่อมีธงแล้วว่าจะไม่นิรโทษกรรมคดี ม.112 จะยื้อให้มันยากไปทำไมอีก อย่างไรก็คงไปหักธงรัฐบาลไม่ได้ เพื่อไทยจะแก้ให้นิรโทษ ม.112 ก็ระวังจะโดนไม่ใช่น้อย กลายเป็นปลุกผีสร้างความขัดแย้งขึ้นมาอีก เพราะจะเท่ากับไปนิรโทษกรรมให้นายทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยด้วย  จากที่ติดคดี ม.112 อยู่คดีนึง ที่ไปให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลี…รูปแบบคดีที่จะนิรโทษกรรมก็ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเข้า กำหนดกรอบเวลาที่คณะกรรมการพิจารณาเสร็จ อาจพิจารณาไปถึงการล้างมลทินด้วย ..ก็ว่ากันไป

ประเด็นต่อมาคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าไล่ไทม์ไลน์แบบหยาบๆ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลประยุทธ์ แต่ละพรรคทำ“สัตยาบรรณลานโพธิ์” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าจะแก้ไข ยกร่างใหม่รัฐธรรมนูญ เพราะตอนนั้นมีปัญหาที่บทเฉพาะกาล ที่ สว.มาจาก คสช.แต่งตั้ง มีอำนาจในการเลือกนายกฯ สว.อยู่ได้ 5 ปีทำให้เลือกนายกฯ ได้สองครั้ง สว.กลุ่มนั้นก็มาจากทหารเก่าเสียส่วนใหญ่ ทำให้ถูกมองว่า สืบทอดอำนาจ แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญหมวดนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง สว. แล้ว สว.จำนวนมากขณะนั้นคงไม่คิดจะตัดอำนาจตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำสำเร็จเพื่อพรรคการเมือง คือการแก้วิธีเลือกตั้ง จากระบบคำนวณจำนวน สส.พึงมี บัตรใบเดียวใช้เลือกตั้งเขต คะแนนตกน้ำเอามาคำนวณเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ใครได้ สส.เขตเกิน สส.พึงมี จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนหนึ่งที่แก้เพราะทางเพื่อไทยเห็นว่า กติกาทำให้เสียเปรียบ เพราะเพื่อไทยดันได้ สส.เขตมากกว่า สส.พึงมี จึงไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์สักลำดับ แต่ตอนนั้นพรรคก้าวไกลค้าน ทำนองว่า ถ้าไม่เอาคะแนนตกน้ำมาใช้คิดปาร์ตี้ลิสต์  ก้าวไกลจะเสียเปรียบ เพราะคะแนนคนเลือกพรรคสูงกว่าคะแนนเลือกคน ในการเลือกตั้งรัฐบาลประยุทธ์..ซึ่งพอแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ พรรคก้าวไกลคงเปลี่ยนความคิด เพราะถ้าใช้ระบบบัตรใบเดียวเห็นทีจะได้แต่ สส.เขต

พลิกประวัติ 'ชาดา' เจ้าพ่อลุ่มน้ำสะแกกรัง ผู้เปิดวาทะเด็ด  'ยิงคนหมิ่นสถาบันแล้วไม่ติดคุก' | เดลินิวส์

ถึงกระนั้น สัญญาใจเรื่อง “การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ก็ยังมีอยู่ ด้วยเหตุผลว่า “ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช.” ก็ไม่รู้ทำสัญญาสัตยาบรรณอะไรกันอีกกี่รอบ เมื่อเลือกตั้ง ฉากแรกคือ“หอมกลิ่นความเจริญ”กันใหญ่ ว่า ก้าวไกลกับเพื่อไทยพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะจับมือกัน แต่ต่อมา ในการเลือกนายกฯ โดยสองสภา เกิดเงื่อนไขจาก สว.และการอภิปรายของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ว่า ไม่เอานายกฯ จากพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีแนวคิดส่งเสริมการนิรโทษกรรมความผิดในคดี  ม.112

ก็วุ่นวายกันไปพักหนึ่ง จนในที่สุดเพื่อไทยต้องประกาศเองว่า ถ้าจับมือกับพรรคก้าวไกลจะติดบ่วง สว.ตั้งนายกฯ ไม่ได้ เลยข้ามไปจับขั้วกับพรรครัฐบาลเดิม ท่ามกลางความขบขันปนสมเพชที่ได้เห็นบางพรรคกระเหี้ยนกระหือจะร่วมรัฐบาล หรือใครบางคนที่เคยเป็นแกนนำเป่านกหวีดปรี๊ดๆๆๆ กลับมาจับมือเพื่อไทย “ก็วงการการเมืองอ่ะเนาะ” แบบว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าผลประโยชน์ลงตัว แล้วพูดว่าเพื่อชาติๆๆๆ …ก็ไม่รู้ว่าไอ้ที่ไปกู้ชาติกันเมื่อวันวานกลับมาหลอนตัวเองบ้างหรือไม่ หรือมีประโยคป้องกันตัวแล้วว่า “สถานการณ์เปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน” อย่างที่นักจัดรายการนางแบกชื่อดังเขายังพูดทำนองว่า อย่าไปซีเรียสมากเรื่องตระบัดสัตย์ เพราะอะไรๆ มันเปลี่ยนได้

แล้วจากนั้น ก็ทวงสัญญาใจกันยิกๆ อีกว่า ตอนจะร่วมรัฐบาลกับก้าวไกล เพื่อไทยมีเอ็มโอยูว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทีนี้ ก็เลยแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติก่อน สภาผู้แทนราษฎรอยากได้ประชามติชั้นเดียว คือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง แต่วุฒิสภาไปแก้เป็นสองชั้น คือ กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ เสียงที่จะผ่านประชามติคือกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ์ ก็กำลังงัดกันอยู่กับสภาผู้แทนราษฎร ถ้าวุฒิสภายืนยันความเห็นเดิม ทางเลือกของสภาผู้แทนราษฎรคือพักกฎหมายประชามติไว้ 180 วันแล้วจึงบังคับใช้ประชามติชั้นเดียว

การแก้ไขกฎหมาย เพื่อทำประชามติถาม 3 ครั้งตามที่ “ประธานรัฐสภาตีความท่าทีของศาลรัฐธรรมนูญ” ครั้งแรก คือ “ประชาชนเห็นว่าควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” นี่คือตัวตุ๊กตาคร่าวๆ แต่คำถามประชามติจะออกมาอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง ..ถ้าประชาชนเห็นด้วย ก็ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชามติครั้งแรกจะมัดคอให้วุฒิสภาต้องแก้  แต่ในมาตราจะเขียนใหม่อย่างไรก็ต้องรอดู..

หลักใหญ่ใจความของการแก้ ม.256 คือให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( สสร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ..ประชามติรอบสอง “ไม่ใช่การเลือกตั้ง สสร.” แต่คือการที่ประชาชนรับรองเนื้อหาที่แก้ใน ม.256 จากนั้น ก็เลือกตั้ง สสร.กันอีกที ..อันนี้ดูเหมือนแต่ละพรรคน่าจะมีโจทย์บังคับ ว่า สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะถ้าที่มาจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” แบบตอน สว. คงได้เงิบกันทั้งบางอีก เพราะขนาดฝ่ายหนุนพรรคส้มเขาล็อบบี้กันในอินเทอร์เนตแหลกลาญ พอเลือกเสร็จตกรอบเกือบหมด ..จากนั้น ก็ต้องให้ สสร.ยกร่างแล้วประชาชนทำประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง.. ซึ่งก็ต้องมีกระบวนการสื่อสารทำความเข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่อีก

ระหว่างทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ก็เสนอแก้ไขรายมาตราไปพลางก่อน จากกรณีที่นายกฯเสี่ยนิด นายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า ขาดคุณธรรมจริยธรรมที่ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ที่เคยต้องคดีโทษถึงที่สุดจำคุก เป็นรัฐมนตรี ทำให้นายกฯเสี่ยนิด ขาดคุณสมบัตินายกฯตลอดไปโดยอัตโนมัติ  ..ตอนนั้นก็หารือกันว่า จะแก้มาตรา 219 เรื่องประมวลจริยธรรม ที่ฝ่ายข้าราชการการเมืองต้องใช้ประมวลฯ เดียวกับศาลและองค์กรอิสระ ทั้งที่ไม่มีส่วนออกแบบ ( ในคราที่เขียนประมวลฯ คือช่วงรัฐบาล คสช.ที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ) การแก้ไขเพื่อให้ใช้ประมวลฯ ที่ฝ่ายการเมืองออกเอง และไม่ต้องมีโทษถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมือง อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบคานอำนาจองค์กรอิสระ ที่มาของวุฒิสภาต้องยึดโยงกับภาคประชาชนมากขึ้น

ปรากฏว่าคุยกันอีท่าไหนไม่ทราบ ภูมิใจไทยพลิ้วก่อน ว่าไม่เอาแก้รายมาตรา เดี๋ยวประชาชนต่อต้านว่า นักการเมืองทำเพื่อตัวเอง ทีนี้ก็ต้องรอทำประชามติเพื่อเริ่มต้นการแก้ทั้งฉบับ ก็ไม่รู้ว่าจะเล่นเกมดอง พ.ร.บ.ประชามติไว้ครึ่งปีหรือไม่ ถ้าดองก็..พอไปถึงกระบวนการยกร่าง  ไม่รู้ว่า สสร.จะใช้เวลานานแค่ไหนอีก ถ้าไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น ลงพื้นที่  จะถูกครหาอีกหรือไม่ว่า “ล็อคสเปครัฐธรรมนูญไว้แล้ว, สสร.เป็นคนของฝ่ายการเมือง บลาๆๆๆ” ..คือทำอะไรก็มีโอกาสโดนด่า ตราบใดที่มีฝ่ายเสียผลประโยชน์  นักร้องก็เยอะเต็มเมืองไปหมด น่าจะแก้กฎหมายอาญามาจัดการให้หลาบจำกันบ้าง ..ช่วงนี้มีกรณี “คนดีดีแตก” กันเยอะด้วย

ล่าสุด “ไอติม”พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ( ปชน.) ที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาตลอด ก็จะหารือกับ “นายกฯอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถึงเรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเจ้าตัวตั้งใจไปหารือกับประธานรัฐสภาและประธานศาลรัฐธรรมนูญด้วยเพื่อขอแนวทาง “นายกฯอิ๊งค์”ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ก็ต้องมาคุยกันก่อนถึงจะกำหนดไทม์ไลน์ได้ “เราต้องทำในส่วนที่เราทำได้และถูกต้อง เพราะถ้าระยะยาวไปจะมีปัญหาภายหลัง การมาอยู่ตรงนี้ทำให้ทราบเรื่องของปัญหาต่างๆเยอะว่าถ้าเรารีบในขั้นตอนเกินไป นอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์แล้วระหว่างทางจะถูกฟ้องกันด้วย”

ก็ย้อนกลับมาที่เดิม !!! คือมาคุยกันก่อน !!!  พูดกันให้ชัดๆ เลยดีไหมว่า แก้ไม่ทันรัฐบาลนี้แน่ๆ เอาแค่ขั้นตอนประชามติยังรากเลือดว่าจะผ่านหรือต้องดองร่าง 180 วัน พอตั้งคำถามประชามติก็จะโดนนักร้องร้องอีกหรือเปล่าไม่รู้ แถมตอนตั้งคำถามก็ตีกันอีกในสภาประเด็น “ไม่แตะหมวด 1 และ 2” ฝ่ายหนึ่งก็ว่าถ้าร่างใหม่ก็รื้อได้ อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่า มันเป็นหมวดที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐซึ่งดีอยู่แล้ว จะไปแก้ทำไม …ฝ่ายจะแก้ก็ต้องระวังกับดักนักร้องร้องศาลรัฐธรรมนูญอีก..แล้วระหว่างทำประชามติ จะรณรงค์กันแบบไหนก็ไม่ทราบ ..นี่ก็น่างงว่าทำไมสภาผู้แทนราษฎรกลัวทำประชามติสองชั้น หรือคำถามประชามติมันจะซ่อนอะไรไว้  

ไชยชนก​' ลั่น​ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ​ ทันไม่ทัน​ไม่ใช​่ประเด็น​  ซัด​ควรดูอะไรเป็นปัญหาขับเคลื่อนประเทศ​ | เดลินิวส์

สัญญาณจากภูมิใจไทยน่าสนใจอีกแล้ว เมื่อ “เลขานก” นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ลูกชายคนโตของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค  เหมือนจะส่งสัญญาณแปลกๆ ว่า “การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง  หากมีการผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่มีใครสามารถรับผิดชอบได้ มองว่าเวลานี้ควรออกมาพูดกันว่าอะไรที่เป็นปัญหาจริงๆ ในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศในการดูแลประชาชน ตอนนี้ได้ยินแต่ให้แก้รัฐธรรมนูญ แก้ทั้งหมด แต่ไม่ค่อยได้ยินคนพูดว่าแก้ตรงไหน”

ก็เหมือนกับพูดกลายๆ แล้วว่า “จะยกร่างใหม่ทำไม เมื่อยังไม่พูดกันเลยว่าจะแก้ตรงไหน” ที่เป็นที่รับรู้ของประชาชนก็น่าจะเรื่องที่มาของ สว. การคานอำนาจองค์กรอิสระ แต่มันก็เป็นประเด็นแบบ “การเมื๊อง..การเมือง” เผลอๆไปแก้ประมวลจริยธรรมก็โดนครหาว่า “สุดท้ายนักการเมืองก็ทำเพื่อตัวเองอีก ..ก็ลองวางแผนสื่อสารในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลดู ตามที่ เลขาฯนกบอก คือ “พูดให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์จากการแก้ ว่ามันช่วยพัฒนาขับเคลื่อนประเทศสิ”

เหตุผลเรื่อง ที่มาของรัฐธรรมนูญ มันคุ้มหรือไม่ที่จะไปยกร่างใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินค่าทำประชามติ ค่าจ้าง สสร.และค่ารณรงค์อะไรต่อมิอะไรอีกเป็นหมื่นล้าน ใครอยากแก้รัฐธรรมนูญส่งเสียงหน่อยว่า “แก้แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้นอย่างไร ?”

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่