คนสูบบุหรี่ไม่สามารถยืนสูบบุหรี่ ในสวนสาธารณะ ชายหาด หรือในตึกอาคารได้ในวันนี้ รวมทั้งภาพคนนับหมื่นออกมาวิ่งบนท้องถนน สวนสาธารณะอย่างมากมาย หรือคนไทยนับแสนคนหยุดดื่มเหล้าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา

องค์กรที่เรียกว่า สสส.หรือสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ทำงานใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน เพื่อเป้าหมายสุขภาพดี วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 สสส.จะครบรอบ 20 ปี ในโอกาสนี้ได้จัดแถลงข่าว “20 BIG CHANGES” พลังภาคีสร้างสุขสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะคนไทย ร่วมด้วยภาคีเครือข่าย สสส. อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.), ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และ ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ, กรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. และที่ปรึกษากรมอนามัย (ด้านทันตสาธารณสุข) และผู้ร่วมเสวนาทางออนไลน์ตัวแทนภาคีทั่วประเทศ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปี ของ สสส. ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย มี 4 ประเด็น คือสำคัญ 1. งานสร้างเสริมสุขภาพแนวใหม่ สสส. เติมเต็มช่องว่างให้กับระบบสุขภาพไทย ขับเคลื่อนรวมพลังสร้างสรรค์สุขภาวะกับทุกภาคส่วนของสังคม มีความยืดหยุ่นคล่องตัว ขับเคลื่อนสุขภาวะได้ทุกวิกฤต จนพิสูจน์ความสำเร็จสู่การเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพที่นานาชาติให้การยอมรับ ล่าสุดได้รับรางวัลเนลสัน แมนเดลา ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปี 2564 (WHO Nelson Mandela Award for Health Promotion 2021) จากองค์การอนามัยโลก 2.การเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นสุขภาพ โดยเฉพาะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ การเปลี่ยนค่านิยมสร้างประเพณีวัฒนธรรมไร้แอลกอฮอล์ สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ทำให้อุบัติเหตุลดลง พัฒนาระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน จุดกระแสกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะคนไทย เปิดใจ รับรู้ ป้องกัน แก้ไข ปัญหาสุขภาวะทางเพศ

“สสส.ไม่ใช่ชื่อตึก ชื่อองค์กรแห่งนี้มีเจ้าที่บริหารไม่กี่คน แต่คือภาคีอันไพศาล มีรายละเอียดอันกว้างขวาง ที่ได้ร่วมกันทำงานมาถึงวันนี้ และหวังว่าจะจับมือร่วมกัน 10 ปีต่อไป” ผู้จัดการกองทุน สสส.ขยายภาพความเป็นองค์กรสสส.

ด้านศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สสส. มีความเชื่อว่า ‘การป้องกัน’ ดีกว่า ‘การรักษา’ และ ‘สร้าง’ นำ ‘ซ่อม’ เราป้องกันด้วยการสร้างสุขภาพดีกว่าการ ไปซ่อมสุขภาพในภายหลัง และที่ผ่านมา สสส. ก็ใช้กลไกในการสนับสนุนภาคีในการทำสิ่งที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และกรอบพฤติกรรมที่ทำให้คนสุขภาพดีขึ้น อยากทำให้สังคมเข้าใจในการสร้างสุขภาพที่ดีก่อนที่จะป่วย ผ่านทั้งกลไกทางสังคมและนโยบายของภาครัฐด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันทุกหน่วยงาน ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข หรือ สสส. เท่านั้น แต่กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีหน้าที่ให้ความรู้ กระทรวงการคลังที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี กระทรวงพาณิชย์ในการดูแลสินค้าทำลายสุขภาพทั้งหลาย ก็ควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดสังคมสุขภาวะ

ด้านภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สสส. เป็นองค์กรนวัตกรรม ที่พยายามตอบโจทย์การสร้างสุขภาพ ร่วมกันผลักดันเชิงระบบ เพื่อให้มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสูง และต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งสำคัญมากๆ คือแรงผลักดันพลังของเครือข่าย เช่น เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มีคนทำงานในทุกจังหวัด ย่อมมีพลังในการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แม้ในบางประเด็นปัญหาที่ หยั่งรากลึกมานาน ยากต่อการเปลี่ยนแปลง

“สสส.มีเงินหลักพันล้านทำโครงการรณรงค์ตั้งแต่เกิดจนตาย ทำโครงการนมแม่ไปจนถึงตายอย่างสติ ใช้งบประมาณรณณรงค์เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลักร้อยล้าน แต่บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเงินทำการตลาดหลักหมื่นล้าน ขณะที่ยอดขายแอลกอฮอล์ในวันนี้สามแสนล้าน จึงจำต้องมีนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะเรื่องกฏหมาย ซึ่งเราไม่ไปตีตราว่าคนดื่มไม่ดี และไปจำกัดการดื่ม แต่เพียงแต่ว่าเขาต้องในระดับที่ปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น”ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าว

แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา จนเครียดกินเหล้า ให้เหล้าเท่ากับแช่ง กิจกรรมรณณรงค์เหล่านี้ สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร เช่นเดียวกับการออกกำลังกายช่วยหนุนเสริมประเด็นทางสุขภาพ

ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางกายในประเทศไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ว่าในปี 2545 คนไทยออกกำลังกายด้วยการเดินวิ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ 5.8 ล้านคน แต่การทำงานมาจนถึงปลายปี 2562 คนออกกำลังกายด้วยการเดินวิ่งไม่น้อยกว่า 16 ล้านคน และที่สำคัญมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศและวัย เรื่องเพศเห็นชัด ย้อนไปเมื่อ 15ปี ผู้หญิงออกมาวิ่งบนถนนน้อยมาก โดยเฉพาะมาราธอนมีผู้หญิงมาวิ่งแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ผลของการส่งเสริมให้คนตื่นตัวด้านสุขภาพ ทั้งเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งเหล้าและบุหรี่ถูกบูรณาการเข้าด้วยกัน ทำให้จำนวนผู้หญิงออกมาวิ่งมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาในการวิ่งระยะ 10 กม.ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย คือผู้หญิง 60 ผู้ชาย 40 พอไปวิ่งระยะ 21กม.ผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายเล็กน้อยประมาณ45 เปอร์เซ็นต์ แต่ไปถึงระยะมาราธอนผู้ชาย 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นผู้หญิง

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปี สสส. จัดกิจกรรม “20 ปี ภาคีสร้างสุข นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน”ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. นี้ ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยจัดงานแบบไฮบริด (Hybrid) ผสมผสานระหว่างการจัดงานในสถานที่จริง (on ground) และการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ (online) ที่ยึดหลักการจัดประชุมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Meeting) เน้นมีกิจกรรมทางกาย อาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการเสวนาถอดบทเรียนการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย งานสร้างเสริมสุขภาพยุคใหม่ อนาคตการสร้างเสริมสุขภาพของไทย นอกจากนี้ยังแสดงผลงานนวัตกรรมสุขภาพ 14 ผลงาน อาทิ โต๊ะประชุมยืน ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม Salt Meter เสาหลักนำทางจากยางพารา ฯลฯ และผลงานที่จดสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ 25 ชิ้นงาน อาทิ อุปกรณ์รองนั่งสำหรับขับถ่าย ผลิตภัณฑ์ลูกอมสมุนไพรหญ้าหมอน้อยที่มีสรรพคุณช่วยลดการสูบบุหรี่ มีผลงานโชว์เคส 16 บูธ อาทิ ฉลากทางเลือกสุขภาพ โดยมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กิจกรรมเล่นตามวัย โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก Condom4Teen โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) และนิทรรศการ 20 ปี ภาคีสร้างสุข ในรูปแบบ แบบ INTERACTIVE ผ่านช่องทางออนไลน์

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะที่ดีด้วยกัน และติดตามรับชมผ่านทางเว็บไซต์ https://20th.thaihealth.or.th และ Facebook LIVE : ThaiHealth