ถามหา “นิติรัฐ” กรณีที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 5,083 ไร่ 70 ตารางวา ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ติดตามตรวจสอบและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันผ่านกระบวนการยุติธรรมมา 5 ศาล (ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา และศาลปกครอง 2 ศาล) แต่กรมที่ดินยังพลิ้วอยู่
หลังสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 67 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ รฟท. ได้ส่งหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อคัดค้านกรณีคณะกรรมการสอบสวนตามมาตราที่ 61 มีมติไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนเขากระโดง
นายวีริศกล่าวว่าหากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ทับซ้อนในบริเวณดังกล่าว การรถไฟฯได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้เบื้องต้น โดยสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าว ในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้
การรถไฟฯ ยืนยันว่า ทุกขั้นตอนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดงนั้น ได้ปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
“พยัคฆ์น้อย” อ่านข่าวเก่า “ศาลฎีกา” มีคำพิพากษาที่ 846-876/2560 และที่ 8027/2560 มีใจความสำคัญว่าจากแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมา–อุบลราชธานี ตอนที่แยกออกจากเส้นทางแยกเขากระโดง ใช้เป็นเส้นทางลำเลียงหินหรือศิลาที่ย่อยในพื้นที่เขากระโดง เพื่อนำหินไปใช้ก่อสร้างทางรถไฟสายหลัก ซึ่งทางรถไฟที่แยกออกอยู่บริเวณ กม.ที่ 375+650 มีความยาวแยกออกไป 8 กม.
โดยผู้ฟ้องคดี (รฟท.) เข้าครอบครองถือกรรมสิทธิ์ครั้งแรกปี 2462 ใช้ประโยชน์ก่อนเกิดเหตุคดีนี้นานกว่า 50 ปี จึงเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ซึ่งมีความยาว 8 กม. และความกว้างตามที่ระบุในแผนที่ คิดเป็นพื้นที่ 5,083 ไร่ 70 ตารางวา ถูกใช้เป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี
ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟฯดังกล่าว เป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบ ตามมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟแลทางหลวง พ.ศ.2464 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในเวลานั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดินตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองหวงห้ามมิให้ประชาชนเข้ายึดถือหรือครอบครอง รวมทั้งโต้แย้งสิทธิใดๆ กับผู้ฟ้องคดี เว้นแต่จะได้มีประกาศหรือกฎหมายตามพระราชกระแสว่าขาดจากการเป็นที่ดินรถไฟแล้ว
งานนี้ถ้ายึก ๆ ยัก ๆ กันอยู่ คงไม่แคล้วมี “นักร้อง” ไปร้อง ป.ป.ช.ให้เล่นงาน นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ตามมาตรา 157 รวมทั้ง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย ผู้กำกับดูแลกรมที่ดิน และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เพราะ รฟท.สู้คดีชนะมาแล้ว 5 ศาล
ไปร้อง “ป.ป.ช.”ได้! แต่ใช้เวลาสอบสวนนานกี่เดือน กี่ปี ไม่ทราบ? เพราะกรรมการ ป.ป.ช.ว่างอยู่ 4 คน ใครจะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งองค์กรอิสระอื่น ๆ ต้องพึ่งพาเสียง สว.ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงว่าสายไหนสีอะไร
ยึด “เขากระโดง” ออกโฉนดไว้แล้ว! ส่วน “องค์กรอิสระ” จะเป็นแบบไหนยังไง คอการเมืองหลายคนก็วาดภาพไว้แล้ว แต่สุดท้ายคงต้องดูกันต่อไป?.
………………………………………….
พยัคฆ์น้อย