หนังสือพิมพ์รายวัน “เดอะ การ์เดียน” ของสหราชอาณาจักร ประกาศว่าจะไม่มีการโพสต์เนื้อหาจากบัญชีอย่างเป็นทางการบนเอ็กซ์อีกต่อไป โดยระบุว่าแพลตฟอร์ม “เป็นพิษ” ซึ่งในวันต่อมา หนังสือพิมพ์รายวัน “แวนการ์เดีย” ของสเปน ก็ดำเนินการแบบเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า พวกเขายอมเสียผู้ติดตามที่สมัครเป็นสมาชิก ดีกว่าอยู่ใน “เครือข่ายข้อมูลเท็จ”

ล่าสุด หนังสือพิมพ์รายวัน “ดาเกนส์ ไนเฮเตอร์” (ดีเอ็น) ของสวีเดน เป็นสื่อใหญ่รายที่สาม ที่หยุดเผยแพร่บทความบนเอ็กซ์ โดยให้เหตุว่า แพลตฟอร์มมีบรรยากาศที่ “โหดร้ายและสุดโต่ง”

อนึ่ง หลายคนเริ่มรู้สึกสงสัยในปี 2565 ว่าพวกเขาควรใช้ “ทวิตเตอร์” ต่อไปหรือไม่ เมื่อมัสก์ซื้อแพลตฟอร์ม, เปลี่ยนชื่อเป็น “เอ็กซ์” และลดการควบคุมเนื้อหาอย่างมาก โดยอ้างถึงเสรีภาพในการพูด ซึ่งคำถามดังกล่าวปรากฏขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากมัสก์

“ผมคาดว่าสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะแยกทางกับเอ็กซ์มากขึ้น แต่จำนวนสื่อที่ทำเช่นนั้น อาจขึ้นอยู่กับการกระทำของเอ็กซ์, มัสก์ และรัฐบาลชุดใหม่ของทรัมป์ ที่มีต่อสื่อและการสื่อสารมวลชน” นายสตีเฟน บาร์นาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสื่อ จากมหาวิทยาลัยบัตเลอร์ในสหรัฐ กล่าว

ด้านเดอะ การ์เดียน ซึ่งมีผู้ติดตามบนเอ็กซ์เกือบ 11 ล้านคน ระบุว่า ข้อดีหลายประการของการอยู่บนเอ็กซ์ ถูกกลบด้วยข้อเสียมากมายแล้ว เนื่องจากมีการโปรโมต หรือพบเนื้่อหาที่น่ากังวลบ่อยครั้งบนแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีสมคบคิดฝ่ายขวาจัด และการเหยียดเชื้อชาติ

การแตกหักครั้งนี้ มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับความกระตือรืนร้นที่ทวิตเตอร์สร้างขึ้น เมื่อปี 2551-2552 ซึ่งในเวลานั้น สื่อหลายรายต่างรู้สึกว่า พวกเขาต้องอยู่บนแพลตฟอร์มนี้ เพื่อสร้างการติดต่อโดยตรงกับผู้รับข่าวสาร รวมถึงผู้สันทัดกรณี และผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งในขณะเดียวกัน สื่อก็ช่วยเพิ่มอิทธิพลของทวิตเตอร์ไปในตัว แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อบางคนชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันเช่นนี้ อาจกลายเป็นผลเสียต่อสื่อก็ตาม

แม้ผลกระทบจากการตัดสินใจของหนังสือพิมพ์ ในการออกจากเอ็กซ์ ยังไม่ชัดเจน แต่สื่อหลายสำนักก็คาดการณ์ไว้แล้วว่า จำนวนผู้อ่านของพวกเขาจะลดลง

อย่างไรก็ตาม บาร์นาร์ดกล่าวว่า การสูญเสียผู้ติดตามจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากเอ็กซ์สร้างปริมาณการเข้าชมเว็บไซต์ข่าว “ค่อนข้างน้อย” เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ

ทั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์รายหนึ่งจาก “การหมดความสนใจต่อเอ็กซ์” ดูเหมือนจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “บลูสกาย” (Bluesky) ซึ่งเป็นบริการสื่อสังคมออนไลน์แบบกระจายอำนาจ ที่มีฟังก์ชันหลายอย่างเหมือนกับเอ็กซ์

ด้านบลูสกายระบุว่า แพลตฟอร์มมีผู้สมัครเป็นสมาชิกเพิ่ม 1 ล้านคน ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถึงอย่างนั้น จำนวนผู้ติดตามทั้งหมดราว 16 ล้านคนของบลูสกาย ยังคงเทียบไม่ได้กับตัวเลขผู้ใช้งานเอ็กซ์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณหลายร้อยล้านคน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES