รัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 12 ธ.ค.67 ยาวไป 120 วัน ก่อนจะปิดประชุมในช่วงต้นเดือนเม.ย.68 โดยช่วง 120 วันนี่แหละ เป็นคิวทองที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชนคงไม่พลาดจองเวลาขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ในหลายประเด็นที่มีการ “เผาหัว” กันไปบ้างแล้ว
นับตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง (หนี้ครัวเรือน-ดิจิทัลวอลเล็ต) กรณีชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ, เอ็มโอยู 44, โครงการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
ส่วนเรื่องที่ไม่ถึงขั้นถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่จะถูกแซะไปเรื่อย ๆ คือ การออกกฎหมายทำประชามติ นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญโดย “ส.ส.ร.” โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งล่าช้ามาเป็นปี!
จะอ้างเหตุผลที่ล่าช้าเพราะ สว.สายสีน้ำเงิน+สายบุรีรัมย์ ไม่อยากให้แก้! หรือพรรคภูมิใจไทย “งอแง” ก็ตามที แต่งานนี้พรรคเพื่อไทย “เสียรังวัด” ไปมากเลยทีเดียว
เนื่องจากการแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากการรัฐประหาร เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเมื่อคราวที่แล้ว
ดังนั้นอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปีครึ่ง ถ้าการออกกฎหมายทำประชามติ ยัง “พายเรืออยู่ในอ่าง” ในช่วง 120 วันข้างหน้าหลังเปิดประชุมสภายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะทำประชามติกันเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยคงหูชา! เที่ยวหน้าจะไปหาเสียงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้อีกแล้ว
“พยัคฆ์น้อย” จึงมีข้อเสนอไปยังพรรคเพื่อไทย ว่าเปิดสมัยประชุมหน้า (12 ธ.ค. 67)
1.ต้องมีคำตอบชัดเจนว่าจะทำประชามติเมื่อไหร่
2.คุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้รู้เรื่องว่าจะเดินหน้าผลักดันให้เร่งทำประชามติ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย “ส.ส.ร.” โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 หรือว่าพรรคภูมิใจไทยจะกอดคอไปกับ สว.
3.ไม่ต้องคิดแทนประชาชนว่าจะออกมาใช้สิทธิน้อย ก็ขนาดทำประชามติในยุคทหารครองเมือง เมื่อปี 59 ยังมีคนมาใช้สิทธิออกเสียง 29,740,677 คน (59.40%) ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 50,071,589 คน
ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อย เพราะอยากนอนกอดรัฐธรรมนูญปี 60 มรดกของการรัฐประหารต่อไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องของประชาชน ไม่ใช่ความผิดพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น “กินได้” ก็ต้องออกมาใช้สิทธิกันเยอะ ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.
รัฐธรรมนูญปัจจุบันถึงเวลาต้องแก้! เพราะพรรค การเมืองทำงาน-หาเสียงกันแทบตาย! ประชาชน 40-50 ล้านคน เสียเวลาออกไปลงคะแนน ส่วนกกต.ใช้งบเลือกตั้งครั้งละหลายพันล้านบาท แต่ปล่อยให้องค์กรอิสระ มีอำนาจยุบพรรค-สอยนายกรัฐมนตรีลงจากเก้าอี้ เป็นแบบนี้บ่อย ๆ ก็ไม่ไหว!
อำนาจของ “สภา-องค์กรอิสระ” ควรถ่วงดุลกัน! รัฐธรรมนูญต้องชัดเจน เขียนให้เข้าใจง่าย ๆ ไม่เปิดช่องให้ใช้ “ดุลพินิจ” จนทำให้ผู้คนบางส่วนในสังคมกังขาและมีท่าทีไม่ยอมรับ