ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลแง่มุมที่น่าสนใจ “น่าคิด” เกี่ยวกับการเลี้ยงดู-การดำเนินการกับ “สัตว์เลี้ยงวัยชราที่เจ็บป่วย” ในยุคที่สถานะสัตว์เลี้ยงเปลี่ยนไป จนเกิดคำว่า“Pet Humanization”ที่อธิบายทัศนคติต่อสัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไปของคนยุคนี้ โดยเทรนด์ “เลี้ยงสัตว์ทดแทนลูก-เลี้ยงเป็นสมาชิกครอบครัว” ในไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ…

ก็น่าคิดช่วงท้ายชีวิตสัตว์เลี้ยง”

ที่ “ถึงวัยชราก็มักจะเจ็บป่วยหนัก”

โดย “คนเลี้ยงอาจไม่เคยคิดจุดนี้?”

อนึ่ง ย้อนดูกรณี “Pet Humanization” หรือการ “เลี้ยงสัตว์ทดแทนการมีลูก” ที่ทาง“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยสรุปมีว่า… จากการที่ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้ม อยู่เป็นโสด หรือ แต่งงานแล้วไม่ต้องการมีบุตร เพิ่มขึ้น และ คนวัยเกษียณที่ต้องอยู่คนเดียวลำพัง ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีคนจำนวนมากต้องอยู่ในสภาวะ “อ้างว้างโดดเดี่ยว” หรือ “ซึมเศร้าจากความเหงา”ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยหาวิธีชดเชยโดย “สัตว์เลี้ยงเป็นคำตอบที่มาช่วยเติมเต็ม” ความรู้สึก โดยหลายคนเลี้ยงสัตว์“เหมือนเป็นลูก” หรืออย่างน้อยก็มีมุมมอง“เหมือนสมาชิกครอบครัว”

ทิฆัมพร สิงโตมาศ

อย่างไรก็ตาม นอกจากปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่พบกรณี “น่าคิด” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ “สัตว์เลี้ยงเสียชีวิต และสร้างความเศร้าอย่างมาก” เมื่อต้องจากลาสัตว์เลี้ยงที่อยู่กันมานานเสมือนสมาชิกครอบครัวคนสำคัญ ซึ่งกรณีนี้ก็ส่งผลให้แนวคิด “เตรียมตัวจากลาสัตว์เลี้ยง”ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ก็มีข้อมูลน่าสนใจที่ ทิฆัมพร สิงโตมาศ นักวิจัย ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ผ่านบทความที่มีการเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์เดอะประชากร.คอม กับการ…

ตรียมตัว” ที่จะ “จากลาสัตว์เลี้ยง”

โดยเฉพาะ “สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในวัยชรา”

ทาง ทิฆัมพร ได้มีการสะท้อนเรื่องนี้ไว้ในบทความดังกล่าวว่า… ในยุคที่สัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น หลาย ๆ คนจึงเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแม้ความก้าวหน้าทางการแพทย์ บวกกับได้รับการดูแลเอาใส่ใจเหมือนลูก ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวขึ้นมากกว่าในอดีต สัตว์เลี้ยงอาจจะสูงวัยไปพร้อมกับเจ้าของ แต่ทว่า ภาวะสูงวัยของสัตว์เลี้ยงก็มาพร้อมความเสื่อมถอยของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ คล้าย ๆ กับมนุษย์ อาทิ โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคกระดูกและข้อ โรคตา รวมถึงโรคระบบประสาท โดย “สัตว์เลี้ยงวัยชรา” นั้น…

ก็มีปัญหาสุขภาพ” ไม่ต่างจากคน

และ “ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไป”

ในบทความยังสะท้อนไว้อีกว่า… ผู้มีสัตว์เลี้ยงเป็นลูกนั้นหลายคน กังวลถึงสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่แก่ชรา รวมถึง ห่วงว่าหากตนต้องจากไปก่อน แล้วสัตว์เลี้ยงจะได้รับการดูแลถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือไม่? ซึ่งก็พบว่า…มีน้อยคนที่จะวางแผนล่วงหน้าเตรียมตัวรับมือเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร? จึงนำมาสู่ “แนวคิดการตายดีของสัตว์เลี้ยง” การจัดการวาระสุดท้ายของสัตว์เลี้ยงให้มีคุณค่า ให้ปราศจากความเจ็บปวด โดยแนวทางที่ถูกพิจารณาคือ ดูแลแบบประคับประคองที่เน้น ดูแลคุณภาพชีวิตสัตว์ที่ป่วยระยะท้าย ไปจนถึงการ การุณยฆาตสัตว์เลี้ยงให้พ้นทรมานจากโรคที่รักษาไม่ได้

นี่เป็นกรณี “แนวคิดการตายดีของสัตว์เลี้ยง” จากที่มีการระบุไว้ และนอกจากนั้น ทาง ทิฆัมพร สิงโตมาศ นักวิจัย ยังสะท้อนข้อมูลไว้ในบทความดังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า…สำหรับในประเทศไทย แนวคิดนี้ได้เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ และก็ได้มีการจัด workshop ให้ความรู้ถึงการ “ดูแลประคับประคองสัตว์เลี้ยง”อาทิ งาน Pet SOULciety ที่จัดโดยชุมชนผู้สนับสนุนแนวคิด Palliative Care for Pets ในประเทศไทย โดยมีข้อมูลที่ทาง สพ..วิลาสินี ภุมรินทร์ สัตวแพทย์ด้านการดูแลประคับประคอง ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… การดูแลแบบประคับประคองในสัตว์เลี้ยงนั้น มีหลักการคล้ายกับคน ซึ่งในคนก็คือ ดูแลคุณภาพชีวิต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไปพร้อมกัน ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว

ทั้งนี้ การดูแลสัตว์เลี้ยงแนวทางนี้ สพ..วิลาสิณี ก็ยังมีการให้ข้อมูลไว้ว่า… ได้แก่ สัตว์อายุมากที่มีความเสื่อมร่างกายจากกลุ่มโรคชรา และ สัตว์ป่วยระยะสุดท้ายโรคที่รักษาไม่หาย ซึ่งปัจจุบันวิธีนี้ทำได้ทั้งที่บ้านและที่โรงพยาบาลสัตว์ ผ่าน 4 ขั้นตอน คือ… 1.สัตว์เลี้ยงต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรคขั้นต้นแล้ว 2.เจ้าของเข้าใจภาวะหรือโรคและรับทราบทางเลือกในการดูแลรักษา 3.เจ้าของเข้าใจหลักการและผลจากการดูแลด้วยวิธีนี้ และ 4.สัตว์เลี้ยง และเจ้าของ พร้อมจะมีการดูแลแบบประคับประคอง …เหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญขั้น“ดูแลประคับประคอง”จาก “แนวคิดการตายดีของสัตว์เลี้ยง”ซึ่ง…

กับการเข้าสู่ยุค“Pet Humanization”

ยุค “เลี้ยงสัตว์เป็นสมาชิกครอบครัว”

“ไม่มีใครอยากให้ถึงขั้นการุณยฆาต”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์