รายงานของนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ระบุว่า กว่าครึ่งของไม้สักในป่าธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วโลก อยู่ในทั่วเมียนมา ประเทศซึ่งมีประชากร 54.9 ล้านคน พอล ซาโลเปค ผู้สื่อข่าวของ เนชั่นแนล จีโอกราฟิก เผยว่า ได้พบเห็นด้วยตาท่อนซุงไม้สักขนาดยักษ์จำนวนมาก ถูกขนลำเลียงออกจากป่าด้วยเรือท้องแบน มองดูเหมือนการ “เคลื่อนย้ายป่า”

รายงานผลการศึกษาของคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ป่าไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกตัดโค่นขนานใหญ่ ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน สูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ส่วนรายงานของสำนักงานตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ (EnvironmentalInvestigation Agency : EIA) แห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก คาดว่าถึงปี 2573 ป่าธรรมชาติจะถูกทำลายประมาณ 70 ล้านเฮกตาร์ (427ล้านไร่) ซึ่งเท่ากับ 25% ของป่าทั่วโลก

นับตั้งแต่ปี 2543 ป่าไม้ในเมียนมาถูกแผ้วถางในอัตราเร่ง และในระยะ 30 ปี ระหว่างปี 2533–2563 เมียนมาสูญเสียพื้นที่ป่าราว 27% โดย 1 ใน 3 มาจากการลักลอบตัดไม้เพื่อการพาณิชย์

นายทุนมาเฟียมีประวัติยาวนาน ในการลักลอบตัดไม้มีค่าในเมียนมาและอีกหลายประเทศในภูมิภาค การตรวจสอบของ อีไอเอ พบว่าช่วงหลายปีล่าสุดนายทุนเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงมาก ในการลักลอบตัดไม้และส่งออกต่างประเทศ มีกำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์ดีกว่าเดิมมาก สามารถตัดโค่นและขนไม้ซุงออกจากป่า ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

บริษัทป่าไม้และนายทุนมาเฟียมีความสัมพันธ์แนบแน่น กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุกฝ่าย รวมทั้งกองทัพ ทำให้การลักลอบตัดไม้สะดวกง่ายดาย

แต่ในปี 2557 รัฐบาลเมียนมาเริ่มเอาจริงกับการปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ออกประกาศห้ามการส่งออกไม้สักในป่าธรรมชาติปฏิบัติการกวดขันตำรวจสามารถจับกุมขบวนการมอดไม้ได้ 153 คน ส่วนใหญ่เป็นนายทุนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ กลุ่มคนเหล่านี้ถูกส่งฟ้องศาลเมียนมา และศาลตัดสินจำคุก มีรายที่รับโทษสูงสุดถึง 20ปี

แต่ช่วงหลังมานี้ รัฐบาลเมียนมาผ่อนคลายคำสั่งห้ามอนุญาตให้ขาย หรือส่งออกไม้ซุงที่อยู่ในสต๊อกได้ รวมทั้งไม้ที่เกิดจากการปลูกป่า

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวเมียนมารายหนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ที่อำเภอมะลาย เขตซะไกง์ ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เผยต่อซาโลเปค ว่านายทุนลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่ จ่ายค่าแรงคนงานครึ่งหนึ่งเป็นเงินสด ส่วนที่เหลือเป็นยาเสพติด

ชาวบ้านรับจ้างทำไร่นาในเมียนมาส่วนใหญ่ ได้ค่าแรงตกวันละ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐ (100-166 บาท) แต่ถ้ารับจ้างนายทุนตัดไม้สักในป่าจะได้ขั้นต่ำสุดวันละ 6 ดอลลาร์ (200 บาท)

รายงานขององค์กรอนุรักษ์ป่าธรรมชาติจีซี (GlobalConservation : GC) แห่งเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า จนถึงปี 2561อุทยานแห่งชาติอลองดอว์กัสสป (AleungdawKathapa National Park) ในเมืองโมนยวา เขตซะไกง์ ซึ่งเป็นอุทยานสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมา ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 150,000 เฮกตาร์ (915,000ไร่) และเป็นที่อยู่อาศัยของช้าง และสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด มีเจ้าหน้าที่รักษาป่าคอยดูแลเพียง 12 คน

อุทยานแห่งชาติอลองดอว์กัสสปสูญเสียป่าประมาณ 80% จากการลักลอบตัดไม้ แต่โชคยังดีที่รอบอุทยานราว 60% เป็นแนวหน้าผาภูเขาสูงชันราว 2,000 ฟุต ทำให้ป่าด้านนี้รอดพ้นจากการถูกทำลาย มานานหลายทศวรรษ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES