สำหรับประเด็นนี้ ผศ.ดร.อรุษา เชาวนลิขิต และ ผศ.ดร.พิสุทธิ หนักแน่น นักวิชาการ คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็ได้อธิบาย-ให้ข้อมูลไว้…

ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลกระทบมุมต่าง ๆ”

และ “คำเตือน” ที่ “รวมถึงสารอื่น ๆ”

ทั้งนี้ ทางนักวิชการ มศว ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านมาทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” โดยกรณีแรกเกี่ยวกับ “ซันเซตเยลโลว์ – Sunset Yellow FCF” หลักใหญ่ใจความมีว่า… แม้ Sunset Yellow FCF จะได้รับการรับรองให้ใช้ในอาหาร แต่ก็มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการใช้ในปริมาณมาก หรือบริโภคมากเกินไป โดย “ค่าที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค (Acceptable Daily Intake : ADI)” ที่ FDA องค์การอาหารและยาสหรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ได้กำหนดไว้ อยู่ที่ 4มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัวในแต่ละวัน หมายความว่า… หากน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ปริมาณที่ปลอดภัยก็จะอยู่ที่ไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อวัน

ส่วน “ผลที่อาจเกิดขึ้น” หาก บริโภคมากเกิน (Overconsumption)คือ อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ดังนี้… ในแง่ผลกระทบทั่วไป ได้แก่ อาการแพ้ เช่น คัน มีผื่น หรือบวมที่ใบหน้าและลำคอ, อาการปวดหัวและไมเกรน, ระคายเคืองทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ท้องอืด หรือในแง่ผลกระทบต่อเด็ก มีการศึกษาบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า… เด็กบางคนที่บริโภคสีผสมอาหารเหล่านี้ในปริมาณสูง อาจมีอาการ hyperactivity หรือเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น …นี่เป็น “ผลข้างเคียง” ที่จะเกิด…

ผศ.ดร.อรุษา เชาวนลิขิต

ขณะที่ “ผลจากการบริโภคมากเกินในระยะยาว”ประเด็นนี้ ผศ.ดร.อรุษา ระบุว่า… มีการศึกษาบางชิ้นชี้ว่าซันเซตเยลโลว์อาจมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับความเสี่ยงในมนุษย์ ส่วน “ผลกระทบตามช่วงวัย” อาจแตกต่างกันไปตามช่วงวัย และภาวะสุขภาพแต่ละคน ได้แก่ “เด็ก” เป็นวัยที่ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายยังไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่จึงอาจไวต่อสารมากกว่า โดยเฉพาะถ้าบริโภคสารปริมาณสูงกว่าค่าที่แนะนำ

สำหรับ “ผู้ใหญ่” ที่บริโภคซันเซตเยลโลว์ในปริมาณสูง อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการปวดหัว ไมเกรน หรือเกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร และ “ผู้สูงอายุ” ในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น มีโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ กลุ่มนี้ก็อาจมีความไวต่อซันเซตเยลโลว์มากขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณสูง ๆ …นี่เป็นข้อมูล “ผลตามช่วงวัย”

ถ้า “บริโภคซันเซตเยลโลว์มากเกิน”

ถัดมาอีกกรณี… กรณี “เบสิกเยลโลว์ – Basic Yellow 2” หรือ “C.I. Basic Yellow 2” ข้อมูลเกี่ยวกับ “ผลกระทบสุขภาพ” นั้น ทาง ผศ.ดร.อรุษา ระบุผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… Basic Yellow 2 ปัจจุบันเป็นสารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในอาหารในหลายประเทศ เนื่องจากมี ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น อาทิ เกิดการสะสมสารพิษในร่างกาย, การเกิดปฏิกิริยาต่อภูมิคุ้มกัน เช่น ผื่นคัน บวม หรือปวดหัวในผู้ที่ไวต่อสารเคมี ขณะที่ “ผลกระทบระยะยาว” ก็มีข้อกังวลถึงความเสี่ยงที่สารนี้ อาจก่อให้เกิดมะเร็ง หรือ เกิดความเสียหายทางพันธุกรรม ได้

นี่เป็นกรณี “ความเสี่ยงเบสิกเยลโลว์”

ผศ.ดร.พิสุทธิ หนักแน่น

ทั้งนี้ นอกจาก “สารสี” ทั้ง 2 กรณีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นประเด็นอื้ออึงแล้ว… ทาง ผศ.ดร.พิสุทธิ นักวิชาการ มศว อีกท่าน ก็ได้สะท้อน “คำเตือน” เกี่ยวกับ สีและสารอื่น ๆ ซึ่งอยู่ใกล้ตัวคนไทยหลาย ๆ ชนิด ที่ก็ ควรระมัดระวังด้วยเช่นกัน แยกเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่… “สี” เช่น Tartrazine (E102) ที่ใช้ในลูกกวาด ขนมหวาน เครื่องดื่ม, Carmoisine (E122) ที่นิยมใช้ในเยลลี่ ขนมเค้ก, Chlorophyllin (E140) ที่ใช้ในน้ำผลไม้ ขนม น้ำจิ้ม “สารกันบูด” เช่น Sodium benzoate (E211) ที่ใช้ในเครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋อง ซอส, Potassium sorbate (E202) ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีอายุเก็บรักษานาน ๆ “สารปรุงรส” เช่น Monosodium glutamate : MSG (E621) ที่ใช้ในซุป อาหารสำเร็จรูป “สารให้ความหวานสังเคราะห์” เช่น Aspartame (E951), Sucralose (E955) และ Saccharin (E954) ที่ใช้เป็นสารให้ความหวานในอาหารกับเครื่องดื่ม …นี่เป็นตัวอย่างที่ก็ควรระวังในการบริโภค

และ ผศ.ดร.พิสุทธิ ยังให้ข้อมูลผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… นอกจากสีและสารที่ควรระวังข้างต้นแล้ว ก็ยังมี “สารที่พบในอาหารโดยไม่ตั้งใจ” ที่อาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิต หรือการเก็บรักษา ซึ่งก็ ต้องระวัง โดย สารปนเปื้อนจากกระบวนการผลิต เช่น ตะกั่ว ปรอท หรือ สารพิษจากการเพาะปลูก เช่น ยาฆ่าแมลง หรือ สารพิษจากเชื้อรา (mycotoxins) รวมถึง สารปนเปื้อนจากบรรจุภัณฑ์ เช่น สารเคมีที่ปนเปื้อนจากพลาสติก บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น

ปัจจุบันมีสีและสารที่ใช้ในอาหารมากมาย ซึ่งแม้มีการควบคุมอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้บริโภคเองก็ต้องรู้เท่าทัน ต้องมีความรู้เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสีและสารในอาหารได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันถ้าอยากทราบว่าวัตถุเจือปนทางอาหารที่ระบุในฉลากคืออะไร ก็หาข้อมูลได้จากฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร หรือผ่านลิงก์ https://alimentum.fda.moph.go.th/FDA_FOOD_MVC/Additive/Main ของทาง อย.”…เหล่านี้เป็น “คำแนะนำ”

ผู้บริโภค” เองก็ “ต้องใส่ใจรู้เท่าทัน”

เลี่ยง “ภัยที่อาจแฝงมากับอาหาร!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์