สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำงานสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยมายาวนานถึง 20 ปี (ครบรอบ 8 พ.ย.2564 ) ได้วางจุดยืนบทบาทการทำงานที่เปรียบเสมือนน้ำมันหล่อลื่น  ขณะเดียวได้สร้างภาคีเครือข่ายทำงานร่วมให้เกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 20,000 องค์กร

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 ได้กล่าวในพิธีเปิดงาน “20 ปี ภาคีสร้างสุข : นวัตกรรมความสุขที่ยั่งยืน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในระยะต่อไป ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยให้ยกระดับการทำงาน ลดขีดจำกัดในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ หาต้นเหตุของปัญหา คิดใหม่ ทำใหม่ อย่างสร้างสรรค์ เริ่มจากต้นทุนเครือข่ายที่มี โดยเฉพาะเรื่องการรับมือการระบาดของโควิด-19 สสส.เข้าไปทำงานหนุนเสริมสร้างความรู้ และป้องกันให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว    

“ผลงานตลอด 20 ปี ได้พิสูจน์ว่าขบวนการสร้างเสริมสุขภาพในประเทศไทยที่ผลักดันโดย สสส. และภาคีเครือข่ายเป็นต้นแบบที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยเฉพาะในการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ของการขับเคลื่อนความร่วมมือโดยทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อการพัฒนาสุขภาวะ” พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr.Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) กล่าว

ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 สสส.กำหนดทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ.2565-2574 )ไว้ โดยคำนึงถึงความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมาย และลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ เพื่อทำให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการสสส. กล่าวถึงทศวรรษที่3ของสสส.ว่า  สสส.ต้องการหุ้นส่วนมาสร้างเสริมสุขภาพคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ที่ไม่ไช่เรื่องของหมอและยาอย่างเดียว เมื่อได้เช็คย้อนหลังพบว่าสิ่งที่เป็นดีเอ็นเอของสสส. ชัดเจนว่าวิสัยทัศน์และพันธกิจในรูปแบบของการจุดประกาย กระตุ้น เสริม ยังเป็นทิศทางหลักที่ สสส.ยังยึดอยู่ ขณะเดียวทุกเป้าหมายที่จะทำงาน มีโฟกัสที่ 7 เป้าหมายหลัก จะอยู่ในบริบทใหม่ทั้งหมด บริบทที่เปลี่ยนไปในเรื่องดิจิทัลไลเซชั่น  คือใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำงาน เพราะสังคมวิถีชีวิตผู้คนไม่ได้อยู่ในกรอบเก่าแล้ว ทุกภาคส่วนสสส.จะปรับตัวการทำงานกับเทคโนโลยี และทุกการเปลี่ยนแปลง

“ยกตัวอย่างที่ผ่านมาความรู้ทางสุขภาพจากสสส.ในปีแรกๆเราใช้สื่อมวลชนส่งสารเป็นหลัก จนมาถึงทศวรรษที่ 2 สสส.เริ่มใช้โซเชียลมีเดีย ในวันข้างหน้าในการส่งสารหรือรับสาร จะถูกส่งออกโดยเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์  ที่จะจับคู่ชุดความรู้ที่สสส.สะสมมาตลอด เช่นฮาวทู ต่างๆ การออกกำลังกายให้ไปเชื่อมกับบิ๊กดาต้าของผู้คน เฉพาะเจาะจงไปถึง เพศ วัย ช่วงระหว่างอายุเป็นต้น  จะมีชุดความรู้เฉพาะ ซึ่งสสส.มีชุดความรู้อยู่ 2,000 กว่าชุด และวิธีผลักสารสุขภาพที่สำคัญเข้าไปเฉพาะตัวบุคคล จะเป็นรูปแบบใหม่ของการสื่อสาร เช่นเดียวงานอื่นๆจะตามมา เพราะในทศวรรษหน้าเราอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้น โดยสสส.จะไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น” ผู้จัดการสสส.ให้รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงการสื่อสารทางสุขภาพ 

สำหรับประเด็นสุขภาพที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญในทศวรรษต่อไป ดร.สุปรีดา ชี้ว่ามีประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อสุขภาพประชาชนสูงสุด 7 เรื่อง ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาจากการทำงาน 20 ปีคือ

1. บุหรี่ แม้ว่าผู้สูบบุหรี่จะลดลง แต่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆดึงดูดผู้คนอย่าง บุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องปรับรูปแบบการทำงานเพื่อปิดเกมนี้ให้ได้

2.เครื่องดื่มแอลกอออล์ ที่ต้องฝ้าระวังเพราะมีการใช้สื่อออนไลน์เข้ามากระตุ้นให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ ต้องเฝ้าระวังเพราะเกี่ยวโยงไปถึงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาการใช้ความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง 

3.ประเด็นเรื่องอุบัติเหตุ ยังต้องเฝ้าระวังแม้จะมีเทคโนโลยีมากขึ้นเช่นรถไฟฟ้าระบบบราง รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Auto Pilot) ก็ตาม 

4.กิจกรรมทางกาย เพราะคนมีพฤติกรรมเนือยนิ่งวันละ 13 ชม.เป็นโจทย์ใหญ่ จะต้องกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางกายพอเพียง อย่างน้อยออกกำลังกาย150-200 นาทีต่อสัปดาห์ 

5.อาหาร ทั้งมิติความปลอดภัยของอาหาร  โภชนาการในอาหาร ลดบริโภคหวาน มันเค็ม เพราะทำให้เกิดโรคอ้วนในเด็กมากกว่า 10 % ซึ่งเกินมาตรฐาน 

6.เรื่องสุขภาพจิต ถือเป็นโจทย์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ระบาด เรื่องการเมือง และช่องว่างระหว่างวัยที่รุนแรงมากกว่าเดิม 

7.ประเด็นมลพิษทางอากาศ ประเทศไทยติด 30 อันดับแรกของโลกด้านมลพิษทางอากาศ ซึ่งต้องลงมือแก้ไขในระดับมหภาค

อย่างไรก็ตาม 7 ประเด็นสำคัญทางสุขภาพ เป็นสิ่งที่ สสส.จะยังโฟกัสไปพร้อมๆกับการติดตามสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ โรคระบาด ที่เชื่อว่าในเวลานี้จะปะทุขึ้นมาได้อีก จึงต้องเตรียมความพร้อมสุขภาวะของประชาชน