การจากไปของนายชอน ดู-ฮวาน ซึ่งหลายฝ่ายเรียกขาน “เป็นหนึ่งในจอมเผด็จการ” ของเกาหลีใต้ จึงถือเป็น “บทอวสาน” ให้กับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งสร้างการแบ่งแยกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้รอดชีวิตและครอบครัวของผู้เสียชีวิต การไม่มีนายชอน ดู-ฮวาน อยู่บนโลกใบนี้แล้ว ยิ่งทำให้โอกาสของการได้รับการประนีประนอมอย่างยุติธรรม จากความเลวร้ายทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้นในยุคของอดีตผู้นำรายนี้ ยิ่งห่างไกลมากขึ้นเท่านั้น

Arirang News

นายชอน ดู-ฮวาน เป็นอดีตทหารยศนายพล เกิดเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2474 ที่จังหวัดคยองซังใต้ ทางตอนใต้ของเกาหลีใต้ ขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2523 จากการรัฐประหาร โค่นอำนาจประธานาธิบดีชเว คยู-ฮา เมื่อเดือน ธ.ค. 2522 และผูกขาดการปกครองเกาหลีใต้ ยาวนานจนถึงเดือน ก.พ. 2531 โดยลาออกหลังมีการประท้วงอย่างหนักของเครือข่ายนักศึกษาทั่วประเทศ ที่ต้องการการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนนายชอน ดู-ฮวาน ขึ้นสู่อำนาจไม่นาน เกาหลีใต้วุ่นวายอย่างหนัก เนื่องจากเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีปาร์ค จอง-ฮี โดยได้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เมืองกวางจู นายชอน ดู-ฮวาน ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการทหาร ประกาศกฎอัยการศึก และมีการปิดล้อมพื้นที่ “เพื่อยุติสถานการณ์” ที่รัฐบาลในเวลานั้นรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตประมาณ 170 ราย แต่หลายฝ่ายประเมินว่า “เป็นการนองเลือด” ที่ผู้เสียชีวิตอาจมากถึง 2,300 ราย

ด้านรัฐบาลของนายชอน ดู-ฮวาน เรียกเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า “การจลาจลที่กวางจู” และยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยกล่าวด้วยว่า “จะยังคงทำแบบเดิม หากเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก” ขณะที่ศาลพิพากษาเมื่อปี 2539 ให้นายชอน ดู-ฮวาน รับโทษประหารชีวิต จากความผิดในข้อหากบฏ เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่เมืองกวางจู แต่ได้รับการอภัยโทษจากผู้นำเกาหลีใต้ในเวลานั้น คือประธานาธิบดีคิม ยอง-ซัม

Arirang News

จนถึงตอนนี้ ผู้เสียชีวิตหลายรายยังไม่สามารถระบุเอกลักษณ์ได้ คำถามหลายข้อยังไม่มีคำตอบ หนึ่งในนั้นคือ “ใครกันแน่ที่สั่งให้ยิงผู้ประท้วง” นายคิม ยอง-มัน ปัจจุบันอายุ 57 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมการประท้วงกวางจู ตามร่างกายของเจ้าตัวยังคงมีบาดแผล ที่เป็นผลจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น แต่นายคิม ยอง-มัน ยืนกรานว่า ความเจ็บปวดทางกายอีกไม่นานก็หายไป แต่บาดแผลทางใจยากที่จะเยียวยา โดยส่วนตัวเขาเชื่อมั่นว่า “ความจริงหลายเรื่องตายไปแล้ว” พร้อมกับนายชอน ดู-ฮวาน

แม้อดีตผู้นำเกาหลีใต้ออกมา “ขอโทษ” แต่บรรดาผู้รอดชีวิตแทบทุกคนไม่เชื่อว่า “คนแบบนี้จะขอโทษอย่างจริงใจ” ในวันที่มีการประกาศการเสียชีวิตของนายชอน ดู-ฮวาน ประชาชนหลายคนออกมารวมตัวกันถือแผ่นป้าย “อวยพรให้ไปลงนรก” ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบันรักษาท่าทีต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายชอน ดู-ฮวาน ซึ่งจะไม่ได้รับเกียรติให้มีรัฐพิธีศพ เนื่องจากมีประวัติต้องคดีอาญาร้ายแรง ทั้งข้อหาคอร์รัปชั่น และการเป็นกบฏ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP