บทความในนิตยสาร The Diplomat โดยผู้เขียน Zachary Abuza และ Phuong Vu บอกว่า จากรายงานล่าสุดในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าด้วยโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีน ได้เผยให้เห็นความลับในอีกมุมหนึ่ง หลายประเทศรวมถึงเวียดนาม กำลังแบกรับภาระหนี้สินจีน  พอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขจำนวนหนี้ทั้งหมด สูงเกินกว่าที่ใครคาดคิด

การเปิดเผยทำให้เกิดความเสี่ยงทางการเมือง ต่อรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายทางการเมือง ต่อประเทศเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ทางเหนือ ซึ่งมีข่าวข่มขู่คุกคามฮานอยหลายครั้ง

รายงานของกลุ่ม  AidData ว่าด้วยการปล่อยกู้และการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของจีน พบหนี้แอบซ่อน (hidden debt) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่ไม่มีการบันทึกรายงาน หรือบันทึกจำนวนต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งหมด 385,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,664,800 ล้านบาท)

รายงานเป็นผลจากการตรวจสอบ ชุดข้อมูลโครงการต่าง ๆ ที่จีนให้การสนับสนุนเงินทุนราว 13,000 โครงการ ใน 165 ประเทศทั่วโลก รวมมูลค่า 843,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2543-2560

ข้อมูลนี้ไม่รวมโครงการที่เกี่ยวข้องกับบีอาร์ไอ จำนวนมาก แต่ตัวเลขเงินปล่อยกู้และช่วยเหลือแบบให้เปล่าของจีน พุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่บีอาร์ไอเริ่มโครงการในปี 2556

รายงานพบว่า ประเทศจำนวนมาก รายงานจำนวนเงินที่รับจากจีน ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมทั้งจำนวนเงินที่เป็นภาระต้องจ่ายคืน ซึ่งสูงถึง 5.8% ของจีดีพีของประเทศนั้น ๆ

การสนับสนุนด้านการเงินของจีน จะเป็นแบบให้เปล่าน้อยมาก และการปล่อยกู้ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นแบบ “รัฐบาลต่อรัฐบาล” โดยตรง การตรวจสอบของ  AidData พบว่า เกือบ 70% ที่จีนปล่อยกู้ให้ต่างชาติ เป็นการปล่อยผ่านบริษัทหรือธนาคาร ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ เอสพีวี (special purpose vehicles) รวมทั้งบริษัทร่วมทุน และสถาบันภาคเอกชน ของประเทศผู้รับ

เรื่องนี้ที่เป็นปัญหาก็เพราะ ประการแรก สินเชื่อจีนไม่ใช่ของถูก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จีน โดยเฉลี่ยสูงกว่า 4% สูงกว่าเกือบ 4 เท่า ของเงินทุนสนับสนุนจากญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป (อียู)

ประการที่สอง จีนตั้งเงื่อนไขการค้ำประกันในระดับสูง ต้องมีสินทรัพย์หรือเงิน ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ที่จีนควบคุม กรณีนี้ทำให้เกิด “หนี้แลกหุ้นในบริษัท” ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับศรีลังกา และสปป.ลาว โดยในส่วนของลาวนั้น บริษัทจีนเข้าถือครองหุ้น ในการไฟฟ้าลาว หลังจากบริษัทลาวไม่สามารถชำระหนี้ให้จีน ในโครงการก่อสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้

รายงานพบว่า 42 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก แบกรับภาระหนี้จีนมหาศาล ในจำนวนนี้รวมถึง 4 ประเทศกลุ่มอาเซียนคือ ลาว บรูไน กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งหนี้สาธารณะในส่วนที่เป็นหนี้จีน สูงเกิน 10% ของจีดีพีประเทศ

ในส่วนของเวียดนาม สถานการณ์รุนแรงไม่แพ้ใคร เวียดนามเป็นผู้รับเงินช่วยเหลืออย่างเป็นทางการในรูปแบบอื่น หรือ โอโอเอฟ (Official Other Flows : OOF) จากจีน รายใหญ่เป็นอันดับ 8 ระหว่างปี 2543–2560 รวมเงินยืมส่วนนี้ 16,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

 และเวียดนามเป็นผู้รับเงินช่วยเหลือจากจีน รายใหญ่อันดับที่ 20 ของโลก ในรูปแบบของ ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ หรือ โอดีเอ (Official Development Assistance : ODA) แบบผ่อนปรน เพียงแค่ 1,370 ล้านดอลลาร์

สัดส่วนหนี้ภาครัฐของเวียดนาม ต่อจีดีพีของประเทศ ต่ำกว่าของ สปป.ลาว กัมพูชา บรูไน และเมียนมา แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตราบใดที่เวียดนามสามารถชำระหนี้ให้จีนได้ตามกำหนด แม้ในอัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว ปัญหาจะไม่เกิด

แต่ถ้าชำระไม่ได้ขึ้นมา และเกิดการทวงถาม กลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอย จะถูกโจมตีหนักอย่างแน่นอน จากชาวเวียดนามชาตินิยมทั่วประเทศ ที่ไม่เคยมีความชื่นชมจีนอยู่แล้ว นั่นแหละคือความเสี่ยงทางการเมืองของแท้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES