รู้กันหรือไม่ว่า? ในวันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นให้เป็น “วันต่อต้านการทุจริตสากล” หรือ “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล” (International Anti-Corruption Day) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหภาพสากล (The United Nation : UN) ที่มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของผู้คนในเรื่องการทุจริต อันส่งผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของรัฐบาล เป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำลายรากฐานของประชาธิปไตย และสร้างความตระหนักในบทบาทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตในการต่อสู้และป้องกัน

ดังนั้น UN จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันต่อต้าน คอร์รัปชันสากล” วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายในวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลจะรวมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. องค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนร่วมมือกันทำงานเพื่อแสดงเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างต่อเนื่องและปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ภายใต้แนวคิด “Zero Tolerance คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต”

โดยเน้นว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่และปกป้องสิทธิของตนเอง และประเทศไทย ด้วยการไม่ทนต่อการทุจริต มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และความพอเพียง พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อให้ประเทศไทยโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

สำหรับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ดังนี้
1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน :ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอันดับแรก
2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา :ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบคืออาชญากรรม 
3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ :ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้เผยแพร่คะแนนความโปร่งใส ปี 2563 ตามดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ซึ่งเป็นการวัดคะแนนจากหลากหลายแหล่งที่มา โดยไทยได้คะแนน 36 จาก 100 คะแนนเต็ม และอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 180 ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยอยู่ในลำดับที่ 5 ของอาเซียน ขณะที่สิงคโปร์ได้ 85 คะแนนและอยู่ที่ดันอับที่ 3 ของโลก และอันดับหนึ่งของโลกเป็นของเดนมาร์กและนิวซีแลนด์ที่ 88 คะแนน

ทั้งนี้ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีคำแนะนำ 4 ข้อ ดังนี้

  1. เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กร/สถาบันที่ทำหน้าที่ต่อต้านหรือสอดส่องการทุจริตคอรัปชั่น โดยจะต้องมีเงินทุนและทรัพยากรที่เพียงพอ และเป็นอิสระที่จะดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ของตน
  2. จะต้องมีสัญญาการว่าจ้างที่เปิดเผยและโปร่งใสเพื่อป้องกันการกระทำที่มิชอบ ชี้การขัดกันทางผลประโยชน์ และมีการตั้งราคาที่เป็นธรรม
  3. ต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยและพื้นที่ของพลเมือง (civic space กล่าวคือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน) เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้รัฐบาลต้องยึดมั่นกับการแสดงความรับผิดรับชอบ
  4. ต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้..