ท้องฟ้ากระจ่างปลอดโปร่ง อากาศเย็นสบายของฤดูหนาวเป็นอีกจังหวะเหมาะสมสำหรับการสังเกตการณ์ ชมกลุ่มดาวฤดูหนาว สังเกตดาวเคราะห์ วัตถุท้องฟ้า ชมความงามที่มีมนต์เสน่ห์บนท้องฟ้ายามค่ำคืน…

ในเดือนสุดท้ายของปี ในช่วงเวลานี้ นอกจากมีปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปีให้สังเกตผ่านไป ยังมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ที่โดดเด่นส่งท้ายปี ทั้งนี้ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้ข้อมูล เล่าถึงปรากฏการณ์ท้องฟ้า ให้ความรู้แนะนำการดูดาว กลุ่มดาวเด่นในฤดูหนาวว่า ช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าค่อนข้างใสเคลียร์ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นชมดาว ชมความสวยงามดวงดาวบนท้องฟ้า

จากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี โดยดาวศุกร์ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยที่ผ่านมาได้ฝากความประทับใจให้กับผู้ที่ได้ชม ทั้งนี้ในหนึ่งปีจะมีช่วงเวลาที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสมเป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ โดยถ้าสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์

ในความต่อเนื่องของปรากฏการณ์คืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 14จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ หรือ ฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการว่าจะมีอัตราการตกค่อนข้างสูงประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง แต่อย่างไรแล้วจะสังเกตได้ค่อนข้างชัดเจนในช่วงดึกสักหน่อย ประมาณตีสอง ทั้งนี้ช่วงค่ำยังมีแสงของดวงจันทร์รบกวน ท้องฟ้าไม่มืดสนิท

แต่หลังจากดวงจันทร์ลับขอบฟ้าไปแล้วจะเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการสังเกต โดยศูนย์กลางกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ อยู่กลางท้องฟ้าซึ่งแนะนำให้นอนดูจะเห็นฝนดาวตกได้สวยงาม ชัดเจน ทั้งนี้ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี เกิดจากที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อย ใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อยทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน

เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าวแรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) ถือเป็นไฮไลต์ของหน้าหนาว” ทุกภูมิภาคของประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นได้ในเวลาเดียวกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพท้องฟ้าของแต่ละพื้นที่ หากฟ้าใสเคลียร์ ไร้เมฆและจุดที่จะสังเกตเห็นได้ควรเป็นบริเวณที่ห่างจากแสงไฟรบกวน

หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ศุภฤกษ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า นอกจากนี้มีปรากฏการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ในวันที่ 19 อีกปรากฏการณ์น่าชม ดวงจันทร์เต็มดวง แต่อยู่ไกลโลกของเรามากที่สุดในรอบปี เป็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่จะมีขนาดเล็กกว่าช่วงปกติเล็กน้อย และอีกส่วนหนึ่งในทางดาราศาสตร์จะให้ความสำคัญกับวันทางดาราศาสตร์ โดยวันที่ 21 ธันวาคมจะตรงกับวันที่คนไทยเรียกว่า วันเหมายัน เป็นวันที่จะมีเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี โดยประเทศทางซีกโลกเหนือถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูร้อน อีกปรากฏการณ์ที่สามารถสังเกตเห็นได้ โดยดวงอาทิตย์จะปัดไปทางใต้มากที่สุด

“การขึ้นตกของดวงอาทิตย์ส่งผลต่ออุณหภูมิบนพื้นผิวโลก โดยถ้ามีความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นการดูดาว การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์รู้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงฤดูกาลจะสามารถออกแบบ กำหนดทิศทางสิ่งปลูกสร้างอย่างเหมาะสม”

ดาวเคียงเดือน ที่ผ่านมาจะได้ชมสังเกตเห็น ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ ชมหลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และก่อนสิ้นปีวันที่ 21 นี้ ดาวพอลลักซ์เคียงดวงจันทร์ ดาวสว่างในกลุ่มดาวคนคู่โดยเริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก สังเกตเห็นได้ช่วงค่ำถึงรุ่งเช้า

ดาวอังคารเคียงดาวแอนทาเรส สังเกตได้ทางทิศตะวันออกช่วงใกล้รุ่งในวันที่ 28 และวันต่อมามี ดาวพุธเคียงดาวศุกร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าโดยปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ดังที่กล่าวมาโดยหากทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆ สามารถรับชมด้วยตาเปล่าได้ทุกปรากฏ การณ์ได้ชมความงามธรรมชาติ

หากดวงจันทร์เป็นเสี้ยวก็จะเหมือนกับ พระจันทร์ยิ้ม สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่พบเห็น และยิ่งกับดาวพุธ ที่อาจไม่ค่อยได้เห็นกันครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้สังเกต โดยหากใครมีกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์อาจนำไปส่องดูดาวพุธก็จะได้ชมใกล้ชิดขึ้น

นอกจากปรากฏการณ์ที่กล่าวมา ฤดูหนาวยังเป็นช่วงที่เหมาะกับการดูดาวสังเกต กลุ่มดาวฤดูหนาว โดยหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์คุณศุภฤกษ์ ขยายความเพิ่มอีกว่า กลุ่มดาวที่คนไทยรู้จักกันดีไม่ว่าจะเป็น กระจุกดาวลูกไก่ กลุ่มดาววัว กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวหมาใหญ่ กลุ่มดาวหมาเล็ก กลุ่มดาวสารถี ฯลฯ กลุ่มดาวเหล่านี้สามารถสังเกตเห็นได้ และในกลุ่มดาวเหล่านี้ยังมีวัตถุท้องฟ้า โดยจะได้เห็นเนบิวลาสว่าง สังเกตเห็นได้ด้วยอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องทางไกลหรือกล้องสองตา

“กลุ่มดาวฤดูหนาวที่จะเห็นได้อย่างเช่น กลุ่มดาวค้างคาว ดาวแคสสิโอเปีย ดาวที่จะช่วยหาหรือบอกตำแหน่งทิศเหนือ นอกจากนี้มีกลุ่มดาวเด่น ๆ อย่าง กลุ่มดาวนายพราน ซึ่งถือเป็นพระเอกที่รู้จักกัน นอกจากนี้จากที่กล่าวมีกลุ่มดาวหมาใหญ่ กลุ่มดาวหมาเล็ก กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวที่เป็นศูนย์กลางกระจายตัวของฝนดาวตก ฯลฯ ทั้งนี้การดูดาวจะต้องรู้จักทิศ โดยฤดูหนาวจะใช้กลุ่มดาวค้างคาวนำทาง”

ส่วนปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในปีหน้า มีหลากหลายปรากฏการณ์น่าติดตามเช่นกัน นับแต่ต้นปีเดือนมกราคมเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะสังเกตเห็น ปรากฏการณ์ไมโครฟูลมูน และยังมีฝนดาวตก ให้สังเกตเห็นและอีกไฮไลต์ในมุมมองจะมีปรากฏการณ์ จันทรุปราคาแบบเต็มดวง โดยจะตรงกับคืนลอยกระทง จะได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ ได้ชมความสวยงามของดวงดาวบนท้องฟ้าในค่ำคืนนั้น เป็นต้น

ในปัจจุบันปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้า หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมานับแต่อดีต ในปัจจุบันได้รับความสนใจ ทั้งนี้ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากความสวยงาม แต่ยังต่อยอดส่งต่อการเรียนรู้กว้างไกล คุณศุภฤกษ์ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ยังเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจ จินตนาการ สร้างการเรียนรู้ การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นสื่อกลางสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ

อีกทั้งนำมาปรับใช้ดังเช่นการเรียนรู้การขึ้นตกของดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี สามารถนำองค์ความรู้การขึ้นตก มุมมองเรื่องแสงจากดวงอาทิตย์ นำมาออกแบบใช้กับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์ หรือนำมาเลือกทิศทาง ตำแหน่งของการปลูกสร้างบ้าน เหมาะที่จะหันหน้าไปทางทิศใด เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องแสงและทิศทางลมอย่างเหมาะสม ฯลฯซึ่งที่กล่าวมานี้ศึกษาเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์…

ท้องฟ้าที่มีมนต์เสน่ห์ยามค่ำคืน