ย้อนไปในช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจไทยต่างหวาดเกรงกับกระแส “Disruptive Technology” ที่กำลังมาแรงทำให้ต้องเร่งวางกลยุทธ์ธุรกิจกันใหม่เพื่อไม่ให้ตกขบวน หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง …แต่กระแสนี้ยังไม่ทันจะตั้งตัวกันสักเท่าใดนัก จู่ ๆ การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก็เกิดขึ้นทั่วโลกและไทยก็เริ่มพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในวันที่ 12 ม.ค. 2563 จากวันนั้นจนปัจจุบันเราต้องอยู่กับโควิด-19 มาแล้วถึง 2 ปีเต็มและล่าสุดก็ยังต้องติดตามใกล้ชิดถึงไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ว่าจะมีแนวโน้มในทิศทางใดแน่

การมาของไวรัสโควิด-19 ได้ผลักให้ผู้คนต้องปรับพฤติกรรมสู่ “วิถีชีวิตใหม่”(New Normal) ยิ่งทำให้บทบาทของเทคโนโลยีต่าง ๆ มีมากขึ้นและกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ขาดไม่ได้เช่นกัน ประกอบกับเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP26 ต่างบรรลุข้อตกลงของประเทศทั่วโลกที่จะเดินหน้าการลดก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ประกาศมุ่งสู่ “Net Zero” ปี ค.ศ.2050 ส่วนไทยวางเป้าหมายที่ ค.ศ. 2065

ด้วยการเร่งเร้าทางเทคโนโลยีที่บางฝ่ายมองว่านี่คือ ขั้นตอนการโละอุตสาหกรรมเก่าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงไม่แปลกที่หลายธุรกิจเริ่มมีการปรับแผนการลงทุน ทั้งธุรกิจพลังงาน สถาบันการเงิน อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ฯลฯ ด้วยการทำดีลควบรวมต่อยอดพอร์ต และรวมถึงการลงทุนข้ามสายพันธุ์ เพื่อสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายในการ Transform ไปสู่ Tech Company ที่จะรองรับกับโลกที่เปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิทัลนั่นเอง เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันแบบก้าวกระโดด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นในอนาคต

แม้กระทั่งล่าสุด “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)” ซึ่งเป็นพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ของไทยระดับ 1 ล้านล้านบาทก็ขยับปรับแผนเช่นกัน จึงถือเป็นสัญญาณที่น่าจับตาไม่น้อย โดย “ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์” ที่เข้ามารับไม้ต่อเป็นเลขาธิการฯ เมื่อ ส.ค.2563 ที่เป็นช่วงวิกฤติโควิด-19 ตลอด 1 ปีได้พิสูจน์ถึงฝีมือของลูกหม้อคนแรกของ “กบข.” ที่สามารถโชว์ผลงานสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดเมื่อ 30 พ.ย. ได้ประกาศปรับแผนการลงทุนของสมาชิก “กบข.” ครั้งใหญ่ โดยทำการเปิดตัวแผนการลงทุนใหม่ 2 แผนเพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับสมาชิกมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกที่ต้องการกระจายความเสี่ยง และต้องการโอกาสแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศ คือ 1. แผนหุ้น 65 ซึ่งจะมีการลงทุนในหุ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 65% และ 35% ลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ สินทรัพย์ทางเลือก มีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง

2. แผนหุ้นต่างประเทศ จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ได้แก่ หุ้นในตลาดพัฒนาแล้ว และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ไม่น้อยกว่า 80% ในรอบระยะเวลาบัญชี มีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 6 เสี่ยงสูง ซึ่ง กบข. มีการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนในแผนหลัก เน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากการบริโภคในประเทศจีน กลุ่มผู้นำนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ กลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนชื่อแผนการลงทุนเดิม 3 แผน คือ แผนตลาดเงิน “เปลี่ยนเป็น แผนเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น” แผนผสมหุ้นทวี เปลี่ยนเป็น “แผนหุ้น 35” และแผนตราสารทุนไทย เปลี่ยนเป็น “แผนหุ้นไทย” เพื่อให้สมาชิกเข้าใจแผนการลงทุนของ กบข. ได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ทั้ง 3 แผนยังคงมีนโยบายการลงทุนเหมือนเดิม

ดังนั้นสมาชิก กบข. จึงสามารถเลือกลงทุนที่มี 9 แผน ได้แก่ (1.) แผนสมดุลตามอายุ (2.) แผนเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น (3.) แผนตราสารหนี้ (4.) แผนหุ้น 35 (5.)แผนหลัก (6.) แผนหุ้น 65 (7.) แผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย (8.) แผนหุ้นต่างประเทศ (9.) แผนหุ้นไทย หรือสามารถเลือกสัดส่วนการลงทุนได้ด้วยตนเองตามต้องการ โดยผสมแผนการลงทุนจาก 5 แผน คือ แผนเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้น แผนตราสารหนี้ แผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย แผนหุ้นต่างประเทศ และแผนหุ้นไทย

จากวิสัยทัศน์ที่ไม่หยุดนิ่งของผู้บริหาร “กบข.” ในการทำให้สมาชิกมีเงินออมหลังวัยเกษียณได้อย่างเพียงพอ เพื่อตอบสนองความต้องการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดี บนความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่ กบข. พร้อมเปิดกว้างและเพิ่มทางเลือกการตัดสินใจการลงทุนให้กับสมาชิกได้มีโอกาสมีเงินออมในระยะยาวมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อน กบข. ให้เป็นกองทุนชั้นนำ มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล มุ่งสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดเงิน ตลาดทุนของไทยให้เติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

การปรับแผนการลงทุนดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสการลงทุนให้สอดรับกับทิศทางที่สอดคล้องกับอนาคตของโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เริ่มเห็นทิศทางสดใสจากการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตามทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกก็ยังคงเปราะบางจากการเข้ามาของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่ต้องติดตามใกล้ชิด