หากพูดถึง “ยาเสพติด” กลุ่มที่มีความเสี่ยงกลุ่มแรก ๆ ที่เรามักจะนึกถึงคือกลุ่ม “วัยรุ่นหรือเยาวชน” ซึ่ง นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ระบุว่า จากข้อมูลผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในรอบปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พบว่า ผู้บำบัดอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี รองลงมาเป็นช่วง 25-29 ปี และ 30-34 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นยาบ้าและสารเสพติดกลุ่มแอมเฟตามีน ตามมาด้วย “ยาไอซ์”

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น / ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยสังคมและวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2562 สำรวจพื้นที่ภาคกลาง ครอบคลุมถึงภาคตะวันออกพบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดรายใหม่ ตั้งแต่ปี 2559-2562 คือ 9,905 ราย, 12,153 ราย, 14,879 ราย และ 8,755 ราย ตามลำดับ และผู้เข้ารับการบำบัด 53.6% เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี โดยรักษาการใช้ยาบ้าถึง 67.9%

ที่ผ่านมา ประเทศไทย มีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างหลากหลายและจริงจัง โดยเมื่อประมาณเดือน ก.ย. 2564 มีเวทีวิชาการเเลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องนี้ โดยปรับแนวทางแก้ปัญหามาเน้น แก้ปัญหาจากกระบวนการภายในของผู้ติดยาเสพติดหรือกลุ่มเสี่ยงโดยตรง บนฐานงานวิจัย “ประสิทธิผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธสัญญาต่อเยาวชนที่ใช้สารเสพติด”

ซึ่ง สวรส. ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำ โปรแกรมการบำบัดแบบการยอมรับและสร้างพันธสัญญา (Acceptance Commitment Therapy : ACT) ผสมผสานการฝึกสติ การยอมรับ การสร้างพันธสัญญา และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ช่วยลดอาการผิดปกติ และช่วยให้ผู้รับการบำบัดมีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น

แม้ว่าปัญหาต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และลักษณะของสังคม แต่สำหรับปัญหายาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของทุกรัฐบาล ที่หน่วยงานด้านวิชาการมีหน้าที่ต้องพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนนโยบายให้เกิดการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ดังนั้นการวิจัยเพื่อพัฒนาเยาวชนกลุ่มเปราะบางของ สวรส. เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายประเทศและยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของสังคมปัจจุบัน ที่ต้องเร่งพัฒนาให้เกิดทั้งสังคมสูงวัย สังคมคุณภาพและความมั่นคง การปฏิรูปด้านสาธารณสุข รวมถึงการปฏิรูประบบสุขภาพของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเยาวชนส่วนหนึ่งเข้าข่ายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ตกอยู่ในวงจรขาดความรู้

ขณะที่ ผศ.ดร.จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายถึงโปรแกรมดังกล่าวว่า จะมีการทำกิจกรรม 8 กิจกรรมใน 4 สัปดาห์ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในชีวิต ยืดหยุ่นทางใจ อยู่กับปัจจุบัน เปิดใจยอมรับ ปลดปล่อย ความคิดยึดติด รับรู้ถึงตัวตนที่สังเกตเห็นหรือรู้ทันการเปลี่ยนแปลง รับรู้คุณค่าในตัวเองและใช้คุณค่านำการกระทำสู่เป้าหมายชีวิตแบบมีพันธสัญญากับตนเอง

ทั้งนี้ หลังจากใช้โปรแกรม ACT กับเยาวชน ที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติดในโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เขตพื้นที่ภาคตะวันออก พบว่า ความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมต่างกันอย่างชัดเจน โดย กลุ่มทดลองมีความตั้งใจในการเลิกสารเสพติดและความยืดหยุ่นในชีวิตสูงขึ้น ภายหลังการทดลอง ในขณะที่กลุ่มควบคุมลดลง

“ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจเลิกสารเสพติดคือ ความยืดหยุ่นในชีวิต ความผูกพันใกล้ชิดกับเพื่อน และความภาคภูมิใจในตนเอง ดังนั้นโปรแกรม ACT จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อยอดกับหลักสูตรอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีการจดจำได้ดี”.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง