รัฐธรรมนูญของสหรัฐระบุชัดเจนว่า รองประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งสูงสุดอันดับสองของฝ่ายบริหาร รองจากตำแหน่งประธานาธิบดี และอันดับแรกของการสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกัน รองประธานาธิบดีสหรัฐถือเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะประธานวุฒิสภา แต่ไม่จำเป็นต้องร่วมลงคะแนนด้วยเสมอไป ส่วนใหญ่มักออกเสียงในกรณีที่ “ต้องมีการชี้ขาด”

รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐ ซึ่งเป็นคนที่ 49 คือนางกมลา แฮร์ริส สร้างประวัติศาสตร์เป็นรองผู้นำคนแรกของประเทศที่เป็นหญิง มีเชื้อสายเอเชียคืออินเดีย และเชื้อสายแคริบเบียนจากจาเมกา ปัจจุบัน แฮร์ริสมีอายุ 57 ปี ส่วนประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีอายุ 79 ปี ถือเป็นผู้นำซึ่งรับตำแหน่งด้วยวัยวุฒิสูงสุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ จึงเกิดข้อครหาขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ ว่าแฮร์ริส “มีเป้าหมายมากกว่า” การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองผู้นำหญิงหรือไม่

ทั้งนี้ แฮร์ริสปฏิเสธเสียงวิจารณ์ทั้งหมด ยืนยันว่าเธอคือ “ผู้ช่วยที่ซื่อสัตย์” ของไบเดน อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแล้ว 1 ปี กลับกลายเป็นว่า แฮร์ริสกลับมีปัญหากับบทบาทของตัวเอง บรรดาสื่อทั้งกระแสหลักและกระแสรอง ไม่ว่าจะเคยสนับสนุนหรือวิจารณ์เธอในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตอนนี้กลับผสมโรงกันตำหนิการทำงานของเธอในหลายเรื่อง และระบบการบริหารจัดการภายในคณะทำงานของแฮร์ริส ซึ่งมีการเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ในหลายตำแหน่ง และบางตำแหน่งมีการเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่เกิน 2 คนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เดินลงจากเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เมืองแอตเลนตา ในรัฐจอร์เจีย เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นทั้งบททดสอบและบทเรียนให้กับแฮร์ริส ว่าการเป็น “หมายเลขสองของสหรัฐ” ไม่ใช่เรื่องง่าย จริงอยู่ที่บทบาทและภาระหน้าที่ของรองประธานาธิบดีสหรัฐได้รับการปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ทว่า “ความสนใจ” และ “ความตื่นเต้น” ของสังคม ต่อการที่เธอ “เป็นผู้หญิงคนแรก” ในตำแหน่งนี้ จางหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ไบเดนมอบหมายภารกิจใหญ่ให้เธออย่างน้อย 2 รายการเมื่อปีที่แล้ว นั่นคือการเคลื่อนไหวทางการทูต เพื่อแก้ไขปัญหาคลื่นผู้อพยพจากอเมริกากลาง ไม่ให้เดินทางผ่านเม็กซิโกเข้าสู่สหรัฐ อย่างไรก็ตาม รายงานของสำนักงานควบคุมพรมแดนปรากฏว่า สามารถสกัดจับผู้อพยพผิดกฎหมายจากอเมริกากลางได้สูงเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2564

ขณะที่การเดินสายเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแฮร์ริส เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งมีจุดหมายคือเวียดนามและสิงคโปร์ “ได้ผลลัพธ์มือเปล่า” แม้รัฐบาลวอชิงตันกล่าวในเชิงว่า รองผู้นำหญิงต้องการแนะนำตัว ยืนยันความมุ่งมั่นและความเชื่อมโยงของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคแห่งนี้ “เพื่อคานอำนาจกับจีน” แต่มีการตั้งคำถามตามมา ว่าในเมื่อสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) มี 10 ประเทศ แล้วเพราะเหตุใดแฮร์ริสจึงมาเยือนเพียงสองประเทศ คำตอบของคำถามนี้อยู่ในตัวเองแล้ว นั่นคือสหรัฐต้องการ “ลดความเสี่ยง” ให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี แฮร์ริสพยายามทำในสิ่งที่แตกต่างจากบรรดารองผู้นำสหรัฐคนก่อนหน้า เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เธอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “สุขภาพมารดา” เพื่อระดมมองหาทางแก้ไขปัญหาอัตราตายของมารดา ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน

หิมะปกคลุมตราสัญลักษณ์ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ติดอยู่ด้านนอกปีกตะวันตกของทำเนียบขาว

แฮร์ริสไม่ใช่รองประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ที่ต้องเผชิญกับ “การอยู่ในกรอบของการที่ยังไม่ใช้หมายเลขหนึ่ง” เธอยังคงเป็นหนึ่งในตัวเก็งของการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในศึกเลือกตั้งปี 2567 หรืออาจเป็นครั้งต่อไปในปี 2571

อย่างไรก็ตาม ผลงานปีแรกของเธอในฐานะรองผู้นำสหรัฐ และความกระตือรือร้น ตลอดจน “ความสร้างสรรค์” ของเธอ “เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าและแตกต่าง” ที่ยังดูแล้วไม่ชัดเจน หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเป็น “สัญญาณเตือนล่วงหน้า” ให้กับบรรดาแกนนำของพรรคเดโมแครต และบรรดาอเมริกันชน.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES