โรงพยาบาล(รพ.) ในกรุงเทพมหานคร เขตพื้นทีสีแดงเข้มของการระบาดโควิด-19 ประกาศปิดห้องฉุกเฉิน หลายแห่งมีทั้ง รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า  รพ.ตำรวจ รพ.รามาธิบดี (Elective Case) ยกเว้นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินเท่านั้น โดยเฉพาะรพ.รามาธิบดีมีหมอและบุคลาการทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19และต้องกักตัวมากถึง 300 ราย

เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบ ZOOM จัดโดย สำนักงานสนับสนุนกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.)ในระบบซูม (zoom)ในหัวข้อ “ลดเตียงเจ็บอุบัติเหตุ เพิ่มเตียงรักษาโควิด” เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา  โดยนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน องค์การอนามัยโลก (WHO) และดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

นพ.วิทยา ฉายภาพระบบการรักษาในรพ.ว่า ว่าปัจจุบันจำนวนเตียงของรพ.ทั่วประเทศมี 150,000 เตียง วันนี้มีผู้ป่วยโควิด 110,000 รายจำนวน 65,000 รายอยู่ในรพ.สนาม และจำนวน 47,000 เตียงใช้รักษาผู้ป่วยโควิด แสดงข้อมูลให้เห็นว่าเกือบครึ่งของเตียง รพ. รับรักษาโควิด-19 อย่างไรก็ตามจนถึงทุกวันนี้รพ.หลายแห่งไม่มีเตียง แพทย์พยาบาลต้องกักตัว

จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสถานการณ์ปกติในแต่ละปีมีผู้ป่วยจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ต้องนอนรักษาตัวที่รพ. 4 แสนรายเท่ากับครองเตียงในรพ.ไป30 % และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยเฉลี่ย 20,000 ราย ยิ่งในการระบาดของโควิด-19 เตียงเป็นเรื่องสำคัญที่เก็บไว้ให้กับคนไข้โควิด แต่จากสถิติอุบัติเหตุในวันนี้พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 2,000  รายต้องแอดมิทใช้เตียงรพ.ถึง 800 เตียง

“สถานการณ์การรักษาในโรงพยาบาลวิกฤติมากทุกคนต้องป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากโควิดและต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำว่า หน้าที่ของประชาชนต้องป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยป้องกันโควิดต้องใส่หน้ากาก ใช้ชีวิตให้ช้าลง  เลี่ยงสถานที่แออัด อยู่บ้าน 2 อาทิตย์ ล้างมือบ่อยๆไม่จำเป็นไม่ต้อนรับใคร  เพราะการที่เราออกไปข้างนอกเราต้องเปิดหน้ากาก ดื่มน้ำ ทานข้าว ซึ่งโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้นมีความรุนแรงมาก ช่วงเวลาความเสี่ยงคือเมื่อต้องเปิดหน้ากาก  เช่นเดียวแพทย์พยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลใส่ 8 ชม.จะไม่ทานข้าว ถ้าทานข้าวต้องเปลี่ยนชุดพีพีอีทิ้งทันที เพราะเสี่ยงจะติดเชื้อสูง  

จึงได้เห็นภาพบุคลากรทางการแพทย์เป็นลม และกรณีมีอุบัติเหตุทางถนน ผู้เข้ารับการรักษาในห้องผ่าตัดต้องตรวจโควิดก่อนเพื่อความปลอดภัยของบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งได้ปรับให้การตรวจรวดเร็วแล้วแบบแลปบิสเทสต์รู้ผลภายในไม่กี่นาที แต่ก็เป็นผลตรวจที่ไม่แน่นอน เท่ากับความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปอีก               

ประชาชนอย่างเรา ต้องร่วมมือกันป้องกันอุบัติเหตุอุบัติเหตุ สิ่งป้องกันพฤติกรรมขับรถจักรยานยนต์(จยย.)ใส่หมวก ขับรถเว้นระยะห่าง ไม่แซงซ้าย ง่วงไม่ขับ และไม่ขับรถเร็ว ”นพ.วิทยาฝากถึงใช้รถใช้ถนนทุกคน

นาทีนี้คนไทยต้องร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ การใช้รถใช้ถนน เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะพึ่งพิงระบบรักษาในรพ.ไม่ง่ายเสียแล้ว        

ดร.สุเมธ ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนปี  2563จากข้อมูล 3 ฐานคือ (จากบริษัทกลาง,สาธารณสุข,ตํารวจ ) ภาพรวมผู้เสียชีวิตลดลง10 % จากปีปกติ  แต่ไม่แน่ใจว่าเกิดจากคนเดินทางน้อยลง 20-30% หรือความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน แต่จากสถิติจะเห็นว่าการเดินทางที่ลดลง ในบางกรณีเกิดความเสี่ยงในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เมื่อถนนโล่งคนใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น  ซึ่งปรากฏการณ์เรื่องนี้ในไทยยังต้องอาศัยการวิจัยเพิ่มเติม

แต่ข้อมูลจาก WHO มีการระบุ ว่า ภาพรวมการเดินทางลดลง แต่ความสาหัสหรือรุนแรงจากอุบัติสูงขึ้น มีข้อสรุปจากต่างประเทศ สหรัฐ ระบุชัด ว่าอุบัติเหตุ ทางถนนมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้น  ขณะที่ในประเทศออสเตรเลีย มีการเดินทางที่ลดลง เทียบกับข้อมูลกับการใช้น้ำมันพบว่า แม้ยอดขายน้ำมันจะลดลง 20% แต่อุบัติเหตุลดลงแค่ 10% เท่านั้น

ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า  เรื่องพฤติกรรมและมาตรการป้องกันโควิดในรอบแรกรัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง สวมหน้ากากอนามัย จำกัดการเดินทาง ทุกคนให้ความร่วมมือปรับพฤติกรรม คำถามว่ารัฐดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสื่อสารที่เหมาะสม จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทีดี แต่ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน  การสวมหมวกกันน็อก คือการปรับพฤติกรรม แต่การสื่อสารเราไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคนใส่น้อยลง พฤติกรรมที่จะเกิดความเสี่ยง มีความหลากหลายมากกว่าโควิด มีปัจจัยเรื่องไม่สวมหมวก ขับเร็ว รถไม่ได้มาตรฐาน ถนนไม่ปลอดภัย ทำให้การดำเนินการเหล่านี้ ยากกว่าหลายสิบเท่า นับเป็นโจทย์ยากที่รัฐต้องดำเนินการ 

 “ความคล้ายคลึงทั้งสองประเด็น มีส่วนคล้ายกันพอสมควร ผลวิจัยจากต่างประเทศ ลดการเดินทาง กลับไม่ส่งผลดีต่อความปลอดภัยทางถนนนัก พบมีความประมาทและใช้ความเร็วมากขึ้น ดังนั้นการเดินทางที่จำเป็นต้องระมัดระวัง ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะนำไปสู่ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจ ที่สำคัญ Road Safety ไม่มีวัคซีน เป็นเรื่องของพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว เราจำเป็นต้องหาต่อว่า วัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันและลดอุบัติเหตุ คืออะไร” ดร.สุเมธ กล่าวทิ้งท้าย

ประเทศไทยกำลังต่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ทำงานอย่างหนัก การป้องกันอุบัติเหตุทางถนนนับว่ามีส่วนสำคัญในการประคับประคองระบบสาธารณสุขไทยไม่ให้ล่มสลาย

————————————–
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง