สภาทนายความ เป็นสถาบันของนักวิชาชีพทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเมือง ที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 หลังจากได้ผลักดันให้เกิดสภาทนายความ มาอย่างยาวนานเนื่องจาก วิชาชีพทนายความแต่เดิมนั้นถูกมองแต่ในด้านที่เป็นลบหรือในมิติที่ไม่ดี จึงทำให้มีการรณรงค์และรวมตัวกันของผู้ประกอบวิชาชีพนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ก่อนจะถูกกำหนดให้ ทุกวันที่ 20 ก.พ.ของทุกปี เป็น “วันทนายความ”

ประวัติของวันทนายความ

วันทนายความ มีความเป็นมายาวนานตั้งแต่อดีต เริ่มจากในปี พ.ศ. 2500 ทนายความทั้งรุ่นอาวุโสและรุ่นหนุ่มสาวในขณะนั้น มีแนวความคิดริเริ่มต้องการให้วิชาชีพทนายความ ควรมีสถาบันที่เป็นตัวแทนของวิชาชีพทนายความ และเป็นอิสระควบคุมดูแลกันเองจึงได้ประชุมกันก่อตั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยขึ้น โดยจดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

ต่อมา สมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันใช้ความเพียรพยายามเรียกร้องและผลักดันร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2528 จึงประสบผลสำเร็จออกประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2528 และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้การประกาศใช้ดังกล่าวทำให้ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงถือเป็น “วันทนายความ”และเป็นวันอันสำคัญยิ่งของมวลสมาชิกสภาทนายความ ที่ต้องน้อมรำลึกถึงวันเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งความเป็นอิสระแห่งวิชาชีพทนายความสามารถควบคุมดูแลกันเองตามพระราชบัญญัติทนายความ 2528

ทั้งนี้ เมื่อมาถึงวันทนายความของทุกปี สมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศจึงได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรม เพื่อแสดงพลังสามัคคี และแสดงความพร้อมในการทำหน้าที่ ช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนหน้าที่เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชน ตามบทบาทที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทนายความ 2528 อีกด้วย

ย้อนยุค “ สมาคมทนายความ” เมื่อปีพุทธศักราช 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้ง เนติบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับพระราชบัญญัติทนายความฉบับแรกใช้บังคับโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเนติบัณฑิตยสภา จนในที่สุดเมื่อจำนวนคดีมากขึ้น ศาลก็เพิ่มขึ้น ทนายความก็เพิ่มขึ้น ทนายความจึงรวมตัวกันก่อตั้งเป็น “สมาคมทนายความ ” ขึ้น เมื่อวันที่ 20 เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500

เมื่อสังคมมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงในสังคมเริ่มซับซ้อนและมีมากขึ้นตามลำดับ ประชาชนต่างก็ได้รับผลกระทบจากสังคมมากขึ้น สมาคมทนายความได้เล็งเห็นความสำคัญกับผลการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อประชาชน ดังนั้น การพึ่งพากฎหมายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ความห่วงใยในสวัสดิภาพและการช่วยเหลือดูแลทนายความด้วยกันเองจึงเป็นเรื่องจำเป็น จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดแนวคิดให้มีสภาทนายความเกิดขึ้น การสัมมนาของทนายความจึงมีอย่างต่อเนื่อง

จนในที่สุดสมาคมทนายความ จึงได้จัดสัมมนานักกฎหมายแห่งประเทศไทย ขึ้นในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2513 และได้ยื่นข้อสรุปสัมมนาเสนอต่อรัฐบาลหลังจากยื่นข้อสรุปไม่นาน สำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้มีหนังสือตอบรับทราบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา สมาคมทนายความก็ได้พยายามติดตามมาโดยตลอด

อีก 4 ปีต่อมาคือในปีศักราช 2517 จึงมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติทนายความเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ แต่ก็ต้องตกไปเนื่องจากสภานินิบัญญัติสิ้นสภาพ

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2517 และ 2518 ก็มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติฯเข้าสูการพิจารณาอีก แต่ก็ต้องตกไปเนื่องจากการสิ้นสภาพของสภานิติบัญญัติเช่นกัน

จนกระทั่งในปีพุทธศักราช 2522 มีการระดมความคิดเห็นจากทนายความทั่วประเทศจัดประชุมแก้ไขและพิจารณาปรับกรุงร่างพระราชบัญญัติฯ รวมทั้งประชุมทนายความที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเพื่อขอความคิดเห็นประกอบในการร่างพระราชบัญญัติทนายความ และพยายามผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติทนายความมาโดยตลอด

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2528 “ สภาทนายความ” จึงเกิดขึ้นได้ตามพระราบัญญัติ ทนายความ พุทธศักราช 2528 กว่า 15 ปีที่ทนายความได้พยายามต่อสู้รณรงค์จนเกิดผลสำเร็จ

ดังนั้น ในวันที่ 20 เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกๆปี จึงเรียกว่า “วันทนายความ”สภาทนายความจึงเป็นองค์กรตามกฎหมายที่ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติทนายความ พุทธศักราช 2528 เพื่อให้ทนายความปกครองดูแลกันเอง และมีวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คือ

  1. ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ
  2. ควบคุมมรรยาททนายความ
  3. ส่งเสริมความสามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ
  4. ส่งเสริม และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ
  5. ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย

ที่มา : www.lawyerscouncil.or.th