“ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้รับทราบถึงผลการศึกษาเรื่อง ผลกระทบของโควิด-19 ต่อการเข้าถึงบริการ และการตายส่วนเพิ่ม (Excess death) หรือการตายส่วนเกิน คือ การตายที่เพิ่มขึ้นจากการตายตามปกติในอดีตในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ทาง สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) นำเสนอ…” …นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการเปิดเผยไว้โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนี่ก็ฉายภาพว่า “โควิด-19 ไม่เพียงทำให้มีผู้ป่วยตายจากเชื้อโควิด แต่ยัง มีผลร้ายเพิ่มการตายของผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วย!!…

ผู้ป่วยหลายกลุ่มโรคเข้าถึงการรักษาได้น้อยลง

“โควิดระบาด” ทำให้ “ตายส่วนเกินเพิ่มสูงขึ้น!!”

ทั้งนี้ การประชุมบอร์ด สปสช. ดังกล่าวข้างต้นมีขึ้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งข้อมูลที่ IHPP นำเสนอนี้ นพ.จเด็จ ระบุว่า… เป็นผลศึกษาโดยนำข้อมูลก่อนช่วงล็อกดาวน์ครั้งที่ 1 เดือน ต.ค. 2559-มี.ค. 2563 จากทาง ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง มาสร้างโมเดลทำนาย แล้วเปรียบเทียบกับค่าที่เกิดจริงในช่วงโควิด-19 ระบาด เดือน เม.ย. 2563-ก.ย. 2564

โดยสังเขปเกี่ยวกับกรณีนี้ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษา IHPP แจกแจงไว้ว่า… ช่วง เม.ย. 2563-ก.ย. 2564 อัตรารับผู้ป่วยในลดลง 14.1% ช่วงโควิดระลอก 1 เม.ย. 2563 การรับผู้ป่วยในลดลงถึง 29% ขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉิน-ผู้ป่วยวิกฤติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน มีอัตรารับผู้ป่วยลดลง 6.8% อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลซ้ำในระยะ 28วันเพิ่มขึ้น 32.5% โดยเฉพาะเดือน เม.ย. 2563 มีอัตราเข้ารักษาซ้ำสูง 82.2% พอโควิดระลอก 3 เม.ย.-พ.ค. 2564 มีอัตราเข้ารักษาซ้ำสูงถึง 104.9% ส่วน โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน-แตก ภาพรวมมีอัตรารับผู้ป่วยลดลง 7.4% เข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดลดลง 13% ถ้าดูช่วงโควิดระลอก 1 เม.ย. 2563 มีอัตรารับผู้ป่วยลดลงถึง 21.6% ขณะที่ระลอก 4 มิ.ย.-ก.ย. 2564 มีอัตราเข้าถึงบริการลดลง 21.8% เข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดลดลง 22.3%

กลุ่มโรคเรื้อรัง ในภาพรวม โรคเบาหวาน มีอัตรารับผู้ป่วยในลดลง 12.1% โดยลดลงมากช่วงโควิดระลอก 1, 3, 4 โรคความดันโลหิตสูง อัตรารับผู้ป่วยลดลง 2.2% แต่หลังโควิดระลอก 1 แล้วอัตราเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 12.2% และ “อัตราการตายเพิ่มขึ้น ในโรงพยาบาล 6.7% โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีอัตรารับผู้ป่วยลดลง 8.9% โรคหอบหืด มีอัตรารับผู้ป่วยลดลง 29.8% แต่ในโรงพยาบาล “อัตราการตายสูงขึ้น 48% และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 46.7% 

ด้านกลุ่มผู้สูงอายุ อัตราการผ่าตัดลดลงชัดเจน เช่น การ ผ่าตัดตาต้อกระจก ลดลง 14.1% ผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ลดลง 42.1% ส่วนผู้ป่วย โรคมะเร็ง อัตราการรับผู้ป่วยในก็ลดลง 4.6% การทำเคมีบำบัด-การฉายแสงก็ลดลงประมาณ 10% และกับผู้ป่วย โรคไต มี “อัตราตายสูงขึ้น ในโรงพยาบาล 10.2% ขณะที่กลุ่มแม่และเด็ก ในภาพรวม “อัตราตายเพิ่มขึ้นในส่วนของแม่ 153.4% โดยเฉพาะช่วงโควิดระลอก 4 อัตราตายเพิ่มขึ้นถึง 450.9% จากจำนวนผู้เป็นแม่ที่ตายด้วยการติดเชื้อโควิด ในส่วนของลูก มี “อัตราแท้งเพิ่มขึ้น ที่ตัวเลข 10-20% ช่วงโควิดระลอก 2, 3 และยังพบว่า “อัตราครรภ์เป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น” ช่วงโควิดระลอก 2 ประมาณ 27.9% ซึ่งคาดว่าเกิดจากการเข้าถึงบริการฝากครรภ์ได้ยากขึ้น

ในภาพรวม มีการตายส่วนเพิ่มในปี 2564 กับเพศชายทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 0.3% มากที่สุดในระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 โดย… กลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ 15-64 ปี ซึ่งเพศชายมีการตายส่วนเพิ่ม 6,174 ราย คิดเป็นการตายส่วนเพิ่ม 6.1% ของค่าประมาณการ เพศหญิงมีการตายส่วนเพิ่ม 1,657 ราย คิดเป็น 3.5% ของค่าประมาณการ รองลงมาคือกลุ่มอายุ 65-74 ปี ที่เฉพาะเพศชายมีการตายส่วนเพิ่ม 72 ราย หรือ 0.1% …นี่ก็เป็นผลศึกษาเบื้องต้นโดย IHPP เกี่ยวกับ “การตายส่วนเพิ่ม” เมื่อ เทียบกับการประมาณการทางสถิติกรณีไม่มีโควิด-19 ระบาด โดยเป็นการศึกษาการตายของประชากรไทยทั้งประเทศเป็นรายสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563-ก.ย. 2564

ทั้งนี้ ทาง นพ.วิโรจน์ก็ยังได้มีการแจกแจงไว้อีกว่า… การตายส่วนเพิ่มจากการ ติดเชื้อปรสิต ในปี 2564 เพศชายอยู่ที่ 84.0% เพศหญิง 75.3% การตายส่วนเพิ่มจาก โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจ ในปี 2563 เพศชายอยู่ที่ 21.3% เพศหญิง 7.6% และเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยเพศชายอยู่ที่ 28.5% เพศหญิง 11.3% ส่วนการตายส่วนเพิ่มจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปี 2563 เพศชายอยู่ที่ 3.8% เพศหญิง 4.6% ทั้งนี้สาเหตุการตายยังเป็นข้อมูลไม่เป็นทางการ

“ผลศึกษาสามารถนำมาปรับใช้รับมือโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดเป็นระลอกที่ 5 ในช่วงต้นปี 2565 นี้ โดยเสนอให้ ทบทวนและดำเนินการตามแผน BCP (Business continuity plan) ของโรงพยาบาลระดับ S และ A เพื่อให้สามารถคงบริการ emergency และลดการตายจากการเจ็บป่วย ที่ไม่ใช่โควิด” …นี่เป็นอีกส่วนจากการระบุไว้โดยที่ปรึกษา IHPP อันเนื่องจากการนำเสนอผลศึกษาในการประชุมบอร์ด สปสช. ดังที่ระบุในตอนต้น และก็ยังมีการเสนอไว้ด้วยว่า… หลังการระบาดของโควิด-19 รัฐควรมี
นโยบายเพื่อคงมาตรการเกี่ยวกับโควิดที่ให้ผลเชิงบวก เช่น การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ โรคหัด รวมถึง ขยายระบบบริการในสถานพยาบาล เพื่อ…

ให้มีความหลากหลายเพิ่มเติมในการให้บริการ

ให้ครอบคลุมผู้ป่วยได้มากขึ้นทุกสถานการณ์.