1 ปีผ่านไป สถานการณ์ในเมียนมาโดยรวม นอกจากจะไม่กลับคืนสู่ปกติ ยังเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม เศรษฐกิจย่ำแย่เห็นได้ชัด จากการรายงานของสื่อแขนงต่าง ๆ ทุนต่างชาติถอนออกจำนวนมาก ทำให้อัตราว่างงานพุ่งสูง

จากการประเมินของธนาคารโลก เศรษฐกิจเมียนมาหดตัว 30% อันเป็นผลโดยตรงจากการก่อรัฐประหาร ชาวเมียนมากลายเป็นคนว่างงานใหม่ ประมาณ 1 ล้านคน ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา

ค่าเงินจ๊าตแลกเปลี่ยนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 25% นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร และลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึงช่วงปลายเดือน ก.ย. 2564

การปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ในหลายเมืองทั่วเมียนมา โดยกองกำลังความมั่นคง มีผู้เสียชีวิตรวม 1,053 ราย โดย 160 รายในจำนวนดังกล่าว สังเวยชีวิตในวันเดียวกัน 27 มี.ค. ซึ่งรัฐบาลทหารจัดงานประจำปี “วันกองทัพเมียนมา” มีผู้ถูกจับกุมรวม 11,838 คน

ประชาชนราว 320,000 คน กลายเป็นผู้พลัดถิ่น จากการสู้รบระหว่างทหารกองทัพรัฐบาล กับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ในหลายรัฐ โดยเฉพาะในเขตซะไกง์ และรัฐชีน ทางภาคเหนือ รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยง ทางภาคตะวันออก

รายงานผลการประเมินของ สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ โอซีเอชเอ เผยแพร่เมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คาดว่า ความวุ่นวายในเมียนมา จะทำให้ประชากรเกือบครึ่งของประเทศ ถลำเข้าสู่ความยากจน ในปี 2565 ลบล้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศจนหมดสิ้น หลังจากที่เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 ประชากรเมียนมาทั้งประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 54,995,000 คน

รายงานฯ บอกว่า ชาวเมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจและสังคม สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความต้องการความช่วยเหลือ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร ตามด้วยการระบาดรุนแรง ของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3

จากการวิเคราะห์ของคณะผู้เชี่ยวชาญโอซีเอชเอ เกือบ 14 ใน 15 รัฐและเขตทั่วเมียนมา ตอนนี้หมิ่นเหม่เข้าใกล้เกณฑ์ ขาดสารอาหารเฉียบพลัน (acute malnutrition) ประชาชน 14.4 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของทั้งประเทศ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ในบางรุปแบบ และประมาณ 6.2 ล้านคน จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน ทางด้านมนุษยธรรม ในปีนี้

จากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมทั้งข้อจำกัดความเคลื่อนไหว เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 และความไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง จากการสู้รบ ส่งผลกระทบหนัก ต่อประชาชนกลุ่มเปราะบางมากที่สุด ซึ่งต้องกำหนดแผนฉุกเฉิน เพื่อหาซื้ออาหาร และสิ่งของยังชีพพื้นฐานรายวัน

จากการสำรวจพบว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นพื้นฐาน สูงขึ้นมากในเมียนมา ทำให้อาหารบางประเภท ราคาสูงเกินปัญญาซื้อ สำหรับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน รายได้จากการเกษตรได้รับผลกระทบ จากราคาพืชผลหลายชนิดตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนั้น การเข้าถึงสินเชื่อยังถูกจำกัด

น้ำท่วมในฤดุมรสุม ช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค.ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมาในภาคเกษตรกรรม มากกว่า 120,000 คน จากการสูญเสียพืชผลที่เพาะปลูก และเป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับปี 2565 รายงานของโอซีเอชเอบอกว่า ยังมีแนวโน้ม “เลวร้าย” เนื่องจากมีอีกหลายปัจจัยทางลบ เข้ามาผสมโรง

คาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงในเมียนมา “จะยังคงผันผวน” ในปีนี้ การระบาดของโควิด-19 ระลอก 4 อันเนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ และการอุบัติของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ จะทำให้ความเสี่ยงของเมียนมาสูงขึ้นอีก.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS