เหตุ “บิ๊กไบค์ชนคนเดินข้ามทางม้าลายเสียชีวิต” กับเหตุ “ไรเดอร์ทำร้ายคนเดินฟุตปาธ” ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น…แม้ว่าจะต่างสถานการณ์กัน แต่ทั้ง 2 เหตุดังกล่าวนี้ก็ล้วนเกี่ยวโยงกับเรื่องเดียวกัน คือ “ความปลอดภัยทางถนน” ซึ่งเหตุ “ไม่ปลอดภัย” ที่เกิดขึ้นกับ “ถนนในเมืองไทย” ในระยะหลังดูจะมีกรณีเกิดบ่อย-เกิดถี่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ … “คนไทยต้องลุ้นแทบทุกวัน” ไม่ให้เจอ “แจ๊กพอตร้ายทางถนน” โดยที่เหตุระหว่างรถกับรถนั่นก็มุมหนึ่ง ขณะที่อีกมุมหนึ่ง “ยิ่งน่าโฟกัสให้มาก” คือ…

“เหตุที่เกิดกับคนเดินเท้า”…ที่ “เกิดโดยคนใช้รถ”

“แจ๊กพอตร้าย” กรณีนี้…”ต้องเข้มให้จริง-ยั่งยืน”

“สิทธิทางถนนของคนเดินเท้า”…นี่ “ก็สำคัญนะ!!”

และเกี่ยวกับสิทธิในมุมนี้ ก็มี “ข้อเสนอแนะ” มีการเรียกร้องให้สังคมไทย ผู้ใช้รถใช้ถนน ผู้เกี่ยวข้อง “ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนเดินเท้า” โดยได้มีการระบุไว้ในบทความ “คุมความเร็ว-ปรับโครงสร้างถนน เพื่อทุกคนปลอดภัย” ที่ผู้จัดทำบทความคือ จิตรเลขา สุขรวย และ อัชราภรณ์ อริยสุนทร นักวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งมีการนำเสนอไว้ทาง เว็บไซต์ทีดีอาร์ไอ โดยได้หยิบยกกรณีศึกษาจากเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “กรณีปัญหา” เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะในประเด็น-ในมุมที่เกี่ยวกับ “ความปลอดภัยของคนเดินเท้า” ซึ่งโดยภาพรวม โดยสรุป เป็นการสะท้อนว่า…

“ถนน” นั้น “ไม่ใช่พื้นที่สำหรับใช้รถอย่างเดียว”

“คนเดินเท้า” นั้น “ก็เป็นผู้มีสิทธิใช้ถนนเช่นกัน”

ทั้งนี้ ผู้จัดทำบทความนี้ได้สะท้อนเอาไว้ว่า… ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 32 นั้นได้ “รับรองสิทธิของคนเดินเท้า” ไว้ โดยสังเขปมีว่า… “การใช้ทางเดินรถ ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนหรือโดนคนเดินเท้า ไม่ว่าจะอยู่ ณ ส่วนใดของทาง และต้องให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัวเมื่อจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเด็ก คนชรา หรือคนพิการ กำลังใช้ทาง ผู้ขับขี่จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ” …นี่เป็น “สิทธิคนเดินเท้า” ที่ในมุมกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจน

“ผู้ใช้รถใช้ถนน” ก็จะ “ต้องเคารพสิทธิคนเดินเท้า”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายจะมีการเน้นให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนต้องเคารพ “สิทธิของคนเดินเท้า” แต่ที่ผ่าน ๆ มา สังคมไทยยังไม่ค่อยตระหนักถึงสิทธิในกรณีนี้กันมากนัก ทำให้ ความปลอดภัยของคนเดินเท้าไม่ค่อยได้รับความสนใจ” เท่าที่ควร นี่จึง ทำให้มี คนเดินเท้าเสียชีวิตจากเหตุทางถนน” ไปแล้วจำนวนไม่น้อย!! โดยในส่วนที่บาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บสาหัส ไปจนถึง “บาดเจ็บจนพิการ”  ก็มีจำนวนมาก ซึ่งเหตุร้ายทางถนนที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะทำให้ “เกิดผลกระทบต่อร่างกาย-จิตใจ” ของคนเดินเท้าที่ประสบเหตุและครอบครัวแล้ว ก็ยังทำให้  “เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ” ด้วย

ในบทความที่เผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอได้ชี้ถึง “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้คนเดินถนนประสบอุบัติเหตุว่า… มักจะเกิดจากปัจจัย… การ ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถโดยประมาท, เมาแล้วขับ รวมถึงเกิดจากปัญหา ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนเดินเท้า, ทัศนวิสัยที่ไม่เอื้อต่อการใช้ถนนของคนเดินเท้า และ การบังคับใช้กฎหมายจราจรที่ไม่เพียงพอ

กับกรณี “การเสียชีวิตของคนเดินเท้า” นั้น มีการชี้เน้น “2 ประเด็นหลักที่ทำให้เกิดเหตุ” ขึ้น คือ… จากความเร็ว (Speed) จากการที่ รถวิ่งด้วยความเร็วสูงจนส่งผลต่อระยะของการหยุดรถ และ… จากโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จากการที่ โครงสร้างไม่เอื้อต่อการเดินเท้า ซึ่งการข้ามถนน แม้มีทางม้าลาย แต่บริเวณที่มักเกิดเหตุกับคนเดินเท้า มักพบว่า ไม่มีป้ายให้รถชะลอความเร็ว หรือ ไม่มีที่กดสัญญาณไฟข้ามถนน รวมถึง ไม่มีแสงไฟเพียงพอในยามค่ำคืน อีกทั้งถนนบางแห่งมีโครงสร้างเป็นถนนที่กว้าง จึงยิ่งทำให้รถมีแนวโน้มที่จะขับขี่ด้วยความเร็วมากขึ้น ซึ่งยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนเดินข้ามถนน

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัย ประเด็นที่มีส่วนเพิ่ม “ความเสี่ยงของคนเดินเท้าที่ใช้ถนน” แล้ว ในบทความก็ได้เสนอ “ทางออกเพื่อลดความเสี่ยงให้คนเดินเท้า กลุ่มคนที่ก็ใช้ถนนร่วมกับกลุ่มคนใช้รถ ได้แก่… ให้ความสำคัญกับการออกแบบทางข้ามคู่กับการออกแบบถนน ที่ต้องวางแผนควบคู่กันให้สอดคล้องกับการใช้งานในพื้นที่ นอกจากนั้น ควรนำเรื่องความเร็วรถที่วิ่งกับขนาดถนนมาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะกรณีถนน 7 เลน ที่ทางข้ามถนนในบริเวณนี้ ควรมีสัญญาณไฟคนข้าม (Signalized Crossings) หรือเป็น ทางข้ามต่างระดับ (Grade-separated Crossing) หรือเป็น ทางข้ามแบบทางลอด (underpass)

นเดินเท้าจะปลอดภัย การออกแบบถนนต้องไม่ได้ออกแบบเพื่อรถอย่างเดียว แต่คำนึงถึงคนเดินเท้าด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่คนเดินเท้าหนาแน่น เช่น ชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด…นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการระบุไว้

อีกทั้งในบทความก็ยังระบุไว้ด้วยว่า… เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน เสนอว่า… ควรมีการ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การติดตั้ง กล้องวงจรปิด กล้องตรวจจับความเร็ว ในบริเวณที่มีความเสี่ยง, มีการ นำมาตรการกำหนดโทษที่แตกต่างกันตามความเร็วและสถานที่มาบังคับใช้ รวมถึงอีกข้อสำคัญคือ ต้องมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการที่ครอบคลุม ที่นำไปสู่บทลงโทษที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เหล่านี้เป็นข้อเสนอแนะ…“ลดเหตุร้ายทางถนน”

ต้อง “ไม่โฟกัสเฉพาะเหตุที่เกิดระหว่างรถกับรถ

แต่ “ต้องรวมถึงคืนสิทธิเพื่อปกป้องคนเดินเท้า” .