ถ้าเอ่ยถึง ONE Championship หรือ วัน แชมเปี้ยนชิพ องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก ของ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ประธานและซีอีโอ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักอย่างแน่นอน ชื่อเสียงของ ONE Championship โด่งดังเป็นที่ยอมรับของวงการกีฬานักสู้

และเมื่อปีที่แล้ว ONE Championship ได้ผุดซีรีส์เรียลิตี้ทีวี ที่ชื่อ “The Apprentice: ONE Championship Edition” ขึ้นมา เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมาก ซึ่ง 1 ใน 16 ผู้เข้าร่วมแข่งขัน เป็นหญิงแกร่งหนึ่งเดียวของไทย ที่ชื่อ “เทียร่า” หรือ “น้องแยม” ณัฐฐาชล กมลวัฒนาวิทย์ วัย 26 ปี รวมอยู่ด้วย

“ดาวต่างมุม” มีโอกาสคุยกับ “น้องแยม” ถึงประสบการณ์และแง่มุมชีวิตของเธอ ซึ่งสาวๆ ผู้ที่ชอบความท้าทายและต้องการค้นหาความหมายของชีวิต น่าจะได้ข้อคิดดีๆ ที่จะนำไปปรับใช้หรือนำไปเป็น “ต้นแบบ” ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ที่มาของน้องแยม

“แยมเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่บางนาค่ะ พ่อแม่เป็นนักธุรกิจ คุณยายอพยพมาจากจีน ชีวิตเริ่มจากศูนย์เลย แบบว่าเสื่อผืนหมอนใบ สมัยก่อนอยู่ห้องแถวสองชั้น เราอยู่ชั้นล่าง เวลาน้ำท่วมหรือคนที่อยู่ชั้นสองกดชักโครกลงมาก็จะเจออะไรที่ไม่น่าดูเลยค่ะ”

“ชีวิตของแยมโตมากับคุณแม่ เป็นคนที่ทำงานหนักมาก ตอนประสบความสำเร็จตั้งตัวได้พ่อกับแม่ก็ยังทำงานหนักอยู่ ตอน 15 ปี ครอบครัวก็ล้มเหลวอีกครั้ง แยมเลยโตมากับครอบครัวที่ต้องทำงานหนัก ตื่นตั้งแต่เช้าทำงานจนดึก จุดนี้ทำให้เรารักงานและสนุกกับงานที่ทำ”

การเปลี่ยนแปลง

“ตอนเด็กๆ แยมจะไม่ค่อยลงรอยกับครอบครัว เพราะคนจีนจะเป็นแนวอนุรักษนิยม เรียกว่าหัวโบราณก็ว่าได้ แยมมีพี่สาวหนึ่งคนอายุมากกว่า 12 ปี แต่จะเป็นคนละแนว เขาไม่ใส่สายเดี่ยว แต่แยมจะแนวกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าเถียง พูดมาก ซึ่งขัดกับครอบครัว ตอนอายุ 15 ปี แยมได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ในทีวี รู้สึกอยากไปท้าชีวิต อยากเรียนรู้ชีวิตอีกสักมุม แยมอยากเป็นนักแสดงละครเวที เลยอยากไปสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นครอบครัวเรามีปัญหาการเงิน แยมเลยไปขอคุณลุง (พี่ชายแม่) ให้ช่วย ลุงก็ให้เราทำพาวเวอร์พอยต์พรีเซนต์ตัวเองว่าทำไมเราถึงอยากไปเรียนที่อเมริกา ลุงเห็นความมุ่งมั่นก็เลยให้ทุนสนับสนุนค่ะ”

ออกไปเริ่มนับหนึ่ง

“ใช่ค่ะแยมไปเรียนการละครที่แคลิฟอร์เนีย จากนั้นไปต่อบอสตัน และนิวยอร์กค่ะ เริ่มต้นไปเรียนด้านละครเวทีโดยเฉพาะ แต่เราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำหลายอย่าง เราชอบการเขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว แม้ว่าจะมีลุงออกเงินทุนให้ แต่เราก็อยากหาเงินเลี้ยงตัวเองด้วย งานแรกที่ทำเริ่มจากงานใกล้ตัวคือ การทำทัวร์ที่โรงเรียนค่ะ”

จุดเปลี่ยน

“พอเราเข้าวงการ เราอาจจะเป็นคนแบบฝันเว่อร์ไปนิดนึง เราเป็นนางเอกละคร 2 ปี คิดว่าการเป็นละครเวทีจะเปลี่ยนทัศนคติคนได้ คิดว่าคนๆ นึง เมื่อได้ดูละครก็อาจจะเปลี่ยนมุมมองในชีวิตจากอีกอย่างไปเป็นอีกอย่างได้ แต่ความเป็นจริงพอเราเข้าไปแล้ว ได้เห็นว่าวงการมันยังโบราณอยู่ พูดตรง ๆ ก็คือมันยังดูถูกเราอยู่ ประมาณว่าคนเอเชียเป็นได้แค่นี้ แยมไปแคสละคร ส่วนใหญ่จะเป็นโสเภณีบ่อยมาก เป็นเด็กเนิร์ดบ้าง บูลลี่เราดูถูกเราสารพัด”

“อย่างละคร “คิง แอนด์ ไอ” เขาก็พูดดูถูกเรา คือเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทย ทำให้เราไม่อยากอยู่ในวงการนี้ เขาใช้คำพูดแบบว่าสิ่งที่จะสื่อสารออกมาเป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย จากวันนั้นเราก็เลยเปลี่ยน เพราะรักการเขียน รักงานข่าว สารคดี จึงคิดว่าถ้าเราอยากจะเปลี่ยนทัศนคติจริงๆ เราเลยอยากเล่าเรื่องจริง เล่าเรื่องที่โดนมองข้าม เล่าเรื่องคนที่ไม่มีเสียง อยากเป็นกระบอกเสียงให้กับคนไม่มีอำนาจ เราเลยตั้งใจจะทำจริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งเราตั้งใจมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่เพิ่งมาถึงบางอ้อก็ตอนเป็นนักแสดงละครเวทีนี่เอง”

จุดประกายงานเขียน

“ตอนนั้นแยมมีโอกาสเข้าไปในเรือนจำแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ แต่จำไม่ได้ว่าที่ไหน ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขัง ได้เห็นเรื่องราวที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เจอทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ก็ถามเขามาว่าคุณเข้ามาได้ไง เรียนรู้อะไรจากที่นี่บ้าง พอเราได้รู้ก็เอาทำเป็นวิดีโอมาเผยแพร่ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไร แต่แยมถือว่ามันเป็นการจุดประกาย ให้เราเดินทางมาสายนี้เพราะเราเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่องจริง เรื่องที่คนอื่นมองข้ามและเราก็สู้มาแต่เด็กด้วย”

เข้ามาเกี่ยวข้องกับมวยวัน

“จริง ๆ พอเราทำงานเป็นนักข่าว ทำสารคดีด้วย ความฝันคืออยากจะสร้างอะไรขึ้นมาเอง เริ่มด้วยตัวเองจากศูนย์เหมือน คุณชาตรี เป็นคนที่เรานับถือ เขาสร้าง วัน แชมเปี้ยนชิพ จากศูนย์จนประสบความสำเร็จ ชอบประวัติชีวิตเขามาก อีกอย่างเขามีจรรยาบรรณคล้ายกัน รู้สึกว่าคุณค่าของ วัน แชมเปี้ยนชิพ ก็เหมือนเรา จึงอยากไปเรียนรู้กับเขา ถ้าเราจะสร้างโปรดักชั่น อยากเล่าเรื่องจริง เราจะต้องทำยังไง อะไรบ้าง คิดว่าเป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้จากหนึ่งในระดับท็อป ๆ ของโลกค่ะ”

จากนั้นเป็นอย่างไร

“ตอนนั้นมีคนส่งโปสเตอร์ของ “The Apprentice: ONE Championship Edition” มาให้ เราก็สมัครเข้าไป แต่จริง ๆ รู้ว่าศักยภาพทางการกีฬาเราได้ เราเล่นกีฬา ชอบมวย แต่เรื่องธุรกิจเราอยากเรียนรู้ ตอนนั้นเราทำหลายอย่างเราทำครีเอทีฟมานาน ไม่ได้ทำธุรกิจจ๋า เหมือนกับคนที่เข้ามาแข่งขัน ก็เลยสัมภาษณ์ไปแบบขำ ๆ แต่เราก็พูดตรง ๆ บอกว่าทำไมสนใจงานนี้ ที่อาจจะโดนใจคนสัมภาษณ์ก็คือแยมบอกว่าสนใจเรื่องมวย เพราะคนที่บ้านคนหนึ่งมีปัญหาทางด้านอารมณ์ พออารมณ์ร้อนก็ใช้ความรุนแรง ทำให้เราเศร้ามาก เราเลยหันไปเริ่มชกมวย อยากแข็งแรง เพื่อป้องกันตัวเองเขาคงเห็นสตอรี่ เห็นความมุ่งมั่น เห็นอะไรในตัวเราตรงนี้ แยมจึงได้รับการคัดเลือกเข้ามา”

หญิงไทยหนึ่งเดียวในเรียลิตี้นี้

“ไปถึงวันแรกเราก็หน้าซีดเลยค่ะ เพราะแต่ละคนที่เข้ามาทั้งเก่ง มีความสามารถ มีประสบการณ์และความทะเยอทะยานที่สูงมาก เหนือกว่าเราเท่าตัว เป็นผู้บริหารมาแล้ว หน้าตาดี ฟิตทุกคน อยากบอกว่าเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยากที่สุดที่เราเคยเจอมา เพราะว่ามันกดดันมากจริงๆ”

“ตอนเข้ามาเป็น 1 ใน 16 คน นั้น เป็นช่วงโควิดต้องอยู่แต่ในโรงแรม โจทย์ที่ได้มาก็เป็นวิชาการจ๋าเลย เราต้องทำแผนการทำธุรกิจ แผนการเงิน การตลาด คือทำทุกอย่างของบริษัท ถ้าในชีวิตจริงอาจจะใช้เวลาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็ได้ แต่ในเรียลิตี้นี้เขาให้เวลาแค่วันครึ่งเท่านั้น เราเลยไม่ได้นอนเลย แข่งเป็นทีม แต่โหดมาก ถ้าเป็นวันแข่งจะได้นอนแค่วันละ 1-3 ชม. ติดต่อกันเป็นอาทิตย์เลย แยมอยู่ประมาณ 1-2 เดือน ถือเป็นประสบการณ์ที่โหดและกดดันอย่างหนัก”

ได้อะไรมาบ้าง

“พูดตรง ๆ เลยว่าพอกลับมาจากรายการแยมเศร้ามาก คิดว่าเราทำพลาดเยอะ เศร้าและท้อแท้มาก เราได้เห็นมุมของตัวเองและไม่ชอบมุมนี้เลย คิดว่าทำไมเราเป็นคนใจร้อนจัง มันทำให้เห็นจุดอ่อนของเรา ทำให้เห็นจุดที่ไม่งามของเรา แต่มันทำให้เราเริ่มเปลี่ยนทัศนคติ คือได้เห็นว่าความกลัวทำให้เราตัดสินใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความกลัวทำให้เราคิดว่าจะพลาดมั้ย ทำให้เราไม่กล้า”

คุณชาตรีบอกอะไร

“ดีมากเลยค่ะ คุณชาตรี ให้ข้อคิดมาว่าตั้งแต่นี้ไปคุณห้ามมีอะไรที่ทำให้คุณกลัว หรือคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณต้องทำ ชีวิตนี้คุณต้องทำในสิ่งที่คุณกลัว แยมซึมเศร้าหลายเดือน แต่ก็มีคนให้กำลังใจเยอะ ในที่สุดก็กลับมามุ่งมั่นทำงานและมีบริษัทเป็นของตัวเองจนได้”

มุมมองที่มีต่อคุณชาตรี

“เขาเป็นนักสู้ แยมชอบชีวิตคุณชาตรี เติบโตมาโดยไม่มีอะไร ไปเรียนฮาร์วาร์ด แม่ก็อยู่หอ เริ่มต้นบริษัทก็ไม่มีอะไร เริ่มจากศูนย์ เขาสร้างตัวเองจากการสู้จริง ๆ คุณค่าของวัน ก็ตรงกับเราอย่างที่บอกว่ามีจรรยาบรรณที่ตรงกับตัวเอง จนเขาก้าวมาเป็นนักธุรกิจระดับพันล้านได้ด้วยตัวเอง”

เป็นสาวมั่นคนหนึ่ง

“จะเรียกแบบนั้นก็ได้ค่ะ แต่แยมก็มีปัญหาความเชื่อมั่นในตัวเอง เราพยายามพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งก็ได้ข้อคิดมาจาก วัน แชมเปี้ยนชิพ คือตอนนั้นเราไม่มั่นใจในตัวเองเลย ทำให้เราเสีย แทนที่จะทำผิดทำถูกค่อยมาว่ากัน แต่เราไม่กล้า จึงกลับมาคิดว่ามันไม่ได้แล้ว เราต้องมั่นใจ เราจะตัดสินใจทำอะไรเพราะความกลัวไม่ได้อีกต่อไป”

วัฒนธรรมที่แตกต่าง

“แยมได้เรียนรู้ว่าคำตอบไม่ได้ขาวดำอย่างที่คิด พอเราไปอเมริกา ได้มีอิสระพูดและทำจริง แล้วก็สอนให้เรามุ่งมั่น ทำงานหนัก สร้างตัวเองขึ้นมา เราได้เรียนรู้ชีวิตจากที่นั่นเยอะมาก ตอนไปใหม่ๆ อาจจะฮือฮา อเมริกาดีไปหมด แต่พออยู่นานๆ ถึง 9 ปี ทำให้เราเห็นสังคมเบื้องลึกจากงานที่ทำเพื่อนที่รู้จัก การใช้ชีวิต ที่ส่วนใหญ่จะทำเพื่อตัวเองมาก่อน แต่กับวัฒนธรรมไทยจะสอนให้ดูแลคนอื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญู แต่ก็คิดว่าเขาเป็นประเทศใหม่ ไม่ได้มีวัฒนธรรมประเพณีที่ลึกซึ้งแบบเรา พอเรากลับมาไทย สิ่งที่ตอนเด็กเราคิดว่าเชยจัง ก็มองว่าทำไมมันเป็นสิ่งที่ดีงาม สวยงาม แบบดีว่ะภูมิใจว่ะ ยิ่งอยู่ที่นั่นเรายิ่งเห็นว่าคนไทยนี่ดีนะจริงใจ มีน้ำใจมาก”

สิ่งที่ทำให้ภาคภูมิใจ

“แยมคิดว่าการที่เราได้ทำงาน แล้วได้ช่วยคนอื่นถือว่าภูมิใจค่ะ อย่างช่วงโควิด แยมได้เขียนข่าว เราได้โทรฯหามูลนิธิทั่วไทย สอบถามว่าขาดอะไรบ้าง ต้องการอะไรบ้าง จะบริจาคอะไรที่ไหนอย่างไร เราก็เช็กเรื่อย ๆ ข่าวที่เราเขียนมานี้สามารถสะท้อนเรื่องราวและช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนได้จริง ๆ อีกงานคือการเขียนข่าวเกี่ยวกับลิทธิอะไรสักอย่างที่พะงัน มีผู้หญิงในโรงเรียนประมาณ 30-40 คน โดนรังแก แยมใช้เวลาเป็นเดือนค้นหาความจริง ออกมาเขียนเป็นข่าว ถือเป็นความภูมิใจ ที่เราได้ช่วยเหลือและเป็นกระบอกเสียงให้คนที่เดือดร้อนค่ะ”

ดูแลตัวเองอย่างไร

“แยมเป็นคนที่ชอบออกกำลังกาย เป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวัน เล่นมวย เทนนิส วอลเลย์บอล เวตเทรนนิ่ง วิ่ง เล่นเป็นทุกอย่างและมีตารางการออกกำลังกายด้วย อย่างน้อยต้องวันละ 1 ชั่วโมง วันไหนไม่ทำวันนั้จะเครียดได้ค่ะ ส่วนกีฬาที่ชอบก็คงเป็นมวย แยมชอบ MMA สะใจดี ชอบสารคดี ชอบดู Netflix”

เป้าหมายชีวิต

“แยมเปิดบริษัทของตัวเอง (Third Kulture Productions) เป็นบริษัทโปรดักชั่น เน้นเรื่องจริงอย่างที่เราต้องการ มันเป็นความฝันของเรา เริ่มเอง ลงทุนเอง เป็นของตัวเองจริงๆ ตอนนี้มีลูกค้าเยอะ ปีแรกก็มี UNESCO ตอนนี้ก็ทำสารคดีให้ BBC กับ BMW อยู่ รวมทั้งให้ทำโชว์รันเนอร์ของคนไทย สารคดีส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของชีวิต ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมากค่ะ อนาคตก็ต้องเดินหน้าต่อไปเพราะเป้าหมายอยากทำลงใน Netflix เป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรม ชอบแนวนี้ อยากเอาเรื่องดี ๆ ที่คนมองข้ามมาตีแผ่ให้คนได้เรียนรู้ เพราะคนดูจะได้ประโยชน์เยอะ ๆ”   

ฝากอะไรถึงผู้หญิงด้วยกัน

“จริง ๆ แล้วทั้งผู้หญิงไทยและทั่วโลก สมัยนี้เราเป็นอะไรก็ได้ เราไม่ได้แพ้ใคร เราไม่แพ้ผู้ชาย แยมอยากบอกว่าความกลัวเป็นสิ่งที่ทำให้แยมพลาด ทุกครั้งที่พลาดเพราะเรากลัว ฉะนั้นอย่าให้ความกลัวมาหยุดเรา ความกลัวมันมีอยู่แล้ว แต่เราต้องเอาชนะมันให้ได้ ต้องใช้ชีวิตกับมัน อย่ายอมแพ้มันนะคะ”.

วอน อ่อนวงค์ / เรื่อง เชาวลิต พุ่มโพธิ์ / ภาพ