จัดเป็นอีกหนึ่งโรคสำคัญในโลก ที่หลายๆ ประเทศให้ความสนใจและตระหนักถึงอันตรายที่มี สำหรับโรค “วัณโรค” ซึ่งเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตผู้ที่เป็นโรควัณโรค ถือเป็นที่รังเกียจของสังคม เพราะเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการไอเรื้อรัง หรือไอเป็นเลือด ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นั่นเอง

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวันนี้และความสำคัญของการป้องกันโรควัณโรคกันด้วย

สำหรับโรควัณโรค ถูกค้นพบโดย ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr.Robert Koch) ซึ่งสาเหตุของเชื้อวัณโรคคือเชื้อไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้ประชากรในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งในขณะนั้น ถ้าถามว่าเป็นวัณโรคอันตรายไหม ซึ่งโรควัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไมโครแบคทีเรียม ทิวเบอร์คูโลซิส (Mycobacleriumtuberculosis) ซึ่งสามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่ร้อยละ 80 เกิดที่ปอด ซึ่งในประเทศไทยถือว่ายังมีความรุนแรงของโรคอยู่มาก เพราะพบผู้ป่วยจำนวนมากทุกปี แต่โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้มักเกิดกับเด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่มาก หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเอดส์ มีโอกาสเป็นวัณโรคได้มากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะร่างกายขาดภูมิคุ้มกันทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

ส่วนอาการของคนเป็นวัณโรคจะมีอาการดังต่อไปนี้  

คือมีอาการอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง เบื่ออาหารน้ำหนักลดลง หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก ในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนจะมีอาการไอหนักมากทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอน ตอนเช้า และในหลังอาหาร อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากจะมีอาการหอบด้วย หรือไอเป็นเลือดก้อนแดง หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า และผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อย ๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย แต่จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทน

สถาณการณ์โรควัณโรคในประเทศไทย

คงต้องบอกว่าวัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลก ที่มีภาระวัณโรค วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีและวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง จากรายงานองค์การอนามัยโลกปี 2559 คาดประมาณว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรค 120,000 ราย ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี 15,000 ราย ล่าสุดกรมควบคุมโรคเผยตัวเลขของผู้ป่วยวัณโรคไว้ว่า ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่อยู่ที่ 113,900 ราย เท่ากับป่วยวันละ 312 ราย หรือ ชั่วโมงละ 13 คน คิดเป็นอัตราป่วย 170 ต่อแสนประชากร ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่นี้ พบว่าขึ้นทะเบียนรับการรักษาเพียงร้อยละ 60 หรือ 67,000 รายเท่านั้น นอกจากนี้จำนวนผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยบางรายที่มีอาการดื้อยามีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ทำให้ทุกประเทศต้องร่วมกันรณรงค์เพื่อกำจัดวัณโรคให้หมดไปโดยเร็วที่สุดอีกด้วย

วิธีป้องกันตัวเองจากวัณโรค

1. หากจำเป็นต้องทำงานอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ให้ออกมาสูดอากาศภายนอกบ้างในระหว่างวัน

2. รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์

3. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ

4. สวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีความเสี่ยงต่อการอยู่ใกล้ผู้ป่วยวัณโรค

5. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

6. ลดการดื่มแอกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอย่าใช้สารเสพติด

7. ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ วัณโรคได้ถูกกำหนดเป็นวันสำคัญได้โดยทุกวันที่ “24 มีนาคมเป็นวันวัณโรคโลก” ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของโรควัณโรคที่ยังคงระบาดอยู่ในหลายส่วนของโลก ซึ่งวัณโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตราว 1.6 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม โดยการที่ตั้งวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรค เนื่องจากได้มีการประกาศสาเหตุของโรควัณโรคขึ้นในวันนี้นั่นเอง