หนึ่งใน “ปรากฏการณ์ทางสังคม” ที่ก็น่าสนใจ น่าติดตาม ไม่แพ้บทสรุปคดี “ดาราสาวชื่อดังรายหนึ่งเสียชีวิตอย่างน่าเคลือบแคลง??” นั่นคือ…การที่ชาวโลกออนไลน์ ชาวโซเชียล ก็ได้มีการใช้ “กลไกสังคมออนไลน์” อย่าง “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” กันมาก ซึ่งแสดงออกให้เห็นถึงความสนใจติดตามคดีปริศนาคดีนี้ ทั้งนี้ ในมุมของข้อดีก็คืออาจมีส่วนช่วยทำให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างเที่ยงตรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่กับการนำมาตรการทางสังคมออนไลน์ดังกล่าวนี้มาใช้นั้น ในบางครั้ง ในบางกรณี ก็ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกว่า…เป็นการนำโซเชียลแซงค์ชั่นส์มาใช้อย่าง “ไม่ค่อยเหมาะสม??” …

ถ้าเป็นการใช้ “พร่ำเพรื่อ” หรือ “ล้ำเส้นเกินไปมาก”

โดยเฉพาะกับบางเรื่องที่เป็น “เรื่องสิทธิส่วนบุคคล”

ที่ในภาพรวมการใช้กลไกโซเชียลมุมนี้ “ก็เกิดมาก!!”

ทั้งนี้ ในภาพรวมทั่ว ๆ ไป เกี่ยวกับมาตรการทางสังคม “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” นั้น ก็มี “มุมสังคมศาสตร์” และ “มุมจิตวิทยา” อธิบายไว้เช่นกัน โดยใน วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 (2559) ของทาง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการให้ข้อมูล “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” ผ่านบทความโดย รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ไว้ว่า… “การลงโทษโดยสังคม” หรือ “โซเชียลแซงค์ชั่นส์ (Social sanctions)” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างปทัสถานระดับชุมชนหรือระดับจุลภาค และระดับสังคมหรือระดับมหภาค กับตัวกลาง (Agent) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลผ่านการลงโทษโดยสังคมต่อสมาชิกของสังคมนั้น

โดยอาจมีได้ทั้งมาตรการ “เชิงบวก” และ “เชิงลบ”

สำหรับ “มาตรการเชิงบวก” หรือ Positive social sanctions นั้น ทาง รศ.ดร.สังศิต มีการหยิบยกตัวอย่างขึ้นมาอธิบายเพื่อให้เห็นภาพไว้ว่า… เช่น การให้รางวัล การแสดงความชื่นชมต่อผู้ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนตัวอย่างของการใช้ “มาตรการเชิงลบ” หรือ Negative social sanctions มักจะเป็นมาตรการลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืน เช่น การต่อว่า การใช้คำพูดที่เสียดสี เป็นต้น โดยที่ การลงโทษโดยสังคมนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความอับอายให้ผู้ที่ถูกลงโทษ…

และจำเป็นต้องเปลี่ยนทัศนคติหรือพฤติกรรมใหม่

ข้อมูลในบทความในวารสารสังคมศาสตร์ โดย รศ.ดร.สังศิต ยังมีส่วนที่ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า… การลงโทษโดยสังคมเป็นกลไกชนิดหนึ่งเพื่อควบคุมสังคมให้อยู่ในภาวะที่มีดุลยภาพ ซึ่ง “รูปแบบของโซเชียลแซงค์ชั่นส์” นั้นก็จะมีได้ทั้งแบบที่เป็นทางการ (Official Social Sanctions) และไม่เป็นทางการ (Unofficial Social Sanctions) นอกจากนั้น ยังมีแบบที่เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับผู้ก่อปัญหา และแบบที่ไม่เผชิญหน้าโดยตรง หรือแม้แต่ “การซุบซิบนินทา” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบโซเชียลแซงค์ชั่นส์เช่นกัน …นี่เป็นคำอธิบายโดยสังเขปเกี่ยวกับ “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” ผ่านมุมสังคมศาสตร์

ขณะที่คำอธิบายผ่านมุมจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ กับกรณีนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยได้ฟังการอธิบายจาก ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน หัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยสะท้อนถึงกรณี “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” นี้ไว้ว่า… โซเชียลแซงค์ชั่นส์ ในอดีตมักจะอยู่ในรูปแบบของ “การนินทาว่าร้าย-การแสดงอาการรังเกียจ” แต่ในปัจจุบันได้มีการนำ “สื่อโซเชียล” มาใช้เพื่อเป็น “เครื่องมือสำหรับการแสดงออก” ถึงปฏิกิริยาของสังคม ที่มีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ขุดคุ้ยประวัติหรือเรื่องราวชีวิตของผู้ที่กระทำและผู้เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเผยแพร่…

หวังให้ผู้คนในโลกโซเชียลพากันเข้าไปต่อว่าด่าทอ

หรือศัพท์ในยุคโซเชียลเรียกว่า “เรียกทัวร์ให้มาลง”

อย่างไรก็ตาม ทาง ผศ.ดร.อรพิน ได้มีการย้ำไว้ว่า… การใช้ “กลไกสังคม” แบบนี้ แม้จะมีประโยชน์ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าหากนำมาใช้ให้สังคมได้รับประโยชน์มากขึ้น อย่างเช่น ใช้รณรงค์ให้ความรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากเป็นการใช้ในทางตรงกันข้าม นั่นคือ ใช้โซเชียลแซงค์ชั่นส์เพื่อสนองความสะใจ!! กรณีนี้ไม่เพียงจะไม่เกิดประโยชน์ แต่ยังอาจทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ!! ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังในการใช้มาตรการรูปแบบนี้ให้มาก ๆ ด้วย

ส่วนคำแนะนำการ “ใช้โซเชียลแซงค์ชั่นส์เพื่อให้เกิดประโยชน์” นั้น ทาง ผศ.ดร.อรพิน ก็ได้ให้แนวทางไว้ เช่น… เป็นลักษณะการกดดันให้กระบวนการทางกฎหมายทำงานเร็ว เพื่อให้คนอื่น ๆ ไม่กล้ากระทำผิด เพราะมีภาพให้เห็นชัดเจนว่าถ้ามีพฤติกรรมไม่ถูกต้องจะได้รับผลอย่างไร รวมถึงเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำซาก และก็มี “หลักสำคัญ” ที่จะต้องพึงระลึกอยู่เสมอ กับการนำเอามาตรการทางสังคมอย่าง “โซเชียลแซงค์ชั่นส์” มาใช้ทุกครั้ง ว่า… จะต้องไม่ไปกระทบกับการตัดสินใจที่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ถึงแม้บุคคลนั้นจะเป็นคนดัง คนมีชื่อเสียง หรือแม้แต่จะเป็นบุคคลสาธารณะก็ตาม

“ที่เห็นบ่อยในระยะหลังก็คือ บางกรณีสังคมไปกระหน่ำก่อนแล้ว ทั้งที่บางเรื่องก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมองมุมนี้ก็ไม่แฟร์เหมือนกัน ส่วนตัวจึงอยากแนะนำว่า…การนำมาตรการนี้มาใช้ ทางที่ดีจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และควรต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป แม้คนนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะก็ตาม” …ผศ.ดร.อรพิน ระบุไว้ “ชวนคิด” จากการที่…

“โซเชียลแซงค์ชั่นส์” …ยุคนี้ แผลงฤทธิ์ในไทยมาก”

กับส่วนที่ ก่อประโยชน์” นั้นก็มีมาก…น่าชื่นชม”

แต่ที่ เกินเลย!!-เอาสะใจ!!” ก็มี…ก็ ไม่ควร!!!!”.