อีก 2 วัน!! ประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จะได้ร่วมฉลอง ร่วมสนุกกับประเพณี “วันสงกรานต์” วันขึ้นปีใหม่ของไทยกันแล้ว ซึ่งตามตำรา ตามคติพราหมณ์ วันขึ้นปีใหม่ของไทยที่แท้จริง หรือวัน “มหาสงกรานต์” ในปี 65 นี้ จะตรงกับวันที่ 14 เม.ย. ในเวลา 09.45.46 น.

การฉลองเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ ถือว่าได้รับการผ่อนคลายกันมาบ้าง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ยังคงมีอยู่ ปีนี้รัฐบาลยังคงขอความร่วมมือไม่ให้มีการ “สาดน้ำ” เหมือนที่เคยสนุกสนานกันมาก่อนเกิดโควิด

ริน-รด-พรม” ยังคงเป็นแนวทางการร่วมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 64 ด้วยเพราะน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในห้วงเวลาที่ไวรัสโควิดยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปจากโลกใบนี้

วงการแพทย์…ได้ออกมาแสดงความกังวล หลังเทศกาลสงกรานต์ จะมีผู้ติดเชื้อโควิดมากถึงวันละ 50,000-1 แสนราย ด้วยเพราะเป็นเทศกาลแห่งความสนุก เทศกาลแห่งการพบปะสังสรรค์ เทศกาลแห่งการกลับบ้าน การอยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะการกลับไปหาพ่อแม่ ผู้เฒ่า ผู้แก่

การอยู่ร่วมกันของครอบครัว กลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยง เพราะมีการทำกิจกรรมกันเป็นหมู่คณะ โอกาสของการถอดหน้ากาก หรือการไม่ระมัดระวังอย่างเต็มที่ อาจนำมาสู่ความสูญเสีย โดยเฉพาะบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย ที่มีมากถึง 50-60%

แต่!! ความกังวลครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “ทำลาย” บรรยากาศของเทศกาลสงกรานต์ไปซะทีเดียว เพราะรัฐบาลไอ้อนุญาตให้จัดงานรื่นเริงได้ แต่ต้องเป็นไปตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การแสดงทางวัฒนธรรม ขบวนแห่ การแสดงดนตรี เป็นต้น 

สงกรานต์ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือททท. ก็ออกมาประเมินสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ จะมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยมีคนไทยเดินทางในประเทศ 3.34 ล้านคน-ครั้ง และมีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 41% ที่สำคัญ ททท.เชื่อว่าบรรยากาศสงกรานต์ในปีนี้น่าจะคึกคักเพิ่มมากขึ้น

ปีนี้ ททท.ได้จัดงานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2565 ระหว่างวันที่ 9-17 เม.ย.นี้ ที่พระอารามหลวง 10 แห่งในพื้นที่ กทม.โดยไฮไลต์จะเกิดขึ้นในวันที่ 13-15 เม.ย.นี้ ที่วัดราชบพิธฯ และวัดสระเกศ

ขณะเดียวกันยังจัดงาน สงกรานต์ มิวสิก เฮอริเทจ เฟสติวัล 2022 ที่เมืองเก่า จ.สงขลา และวัดพระราม จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาไทย

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือ ศบค. ไม่ได้ห้ามการจัดกิจกรรม แต่ต้องขออนุญาต และต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง และต้องจริงจังกับการรักษามาตรการด้านสาธารณสุข

การเตรียมตัวก่อนร่วมงานสงกรานต์ บรรดากลุ่ม 608 คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นกันก่อน ส่วนคนทั่วไป ก็ต้องเช็กตัวเอง หากมีความเสี่ยง ต้องงดเดินทาง ต้องมีการตรวจเอทีเค ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง

ผู้จัดงานต้องขออนุญาตก่อนจัดงาน และกำหนดให้มีมาตรการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด ผู้จัดงานต้องลงทะเบียน ไทยสต็อปโควิด 2 พลัส และโควิด ฟรี เซตติ้ง

ขณะเดียวกันในช่วงของการร่วมงาน ต้องมีการกำหนดช่องทางเข้า-ออก สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮฮล์ รักษาระยะห่างและที่เป็นกฎเหล็ก ห้ามอย่างเด็ดขาด คือ ห้ามประแป้ง ห้ามปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน

ที่สำคัญ!! เมื่อร่วมฉลอง สนุกสนานกันแล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังตัวเองอย่างน้อย 7 วันหลังจบงาน…

นั่นหมายความว่า…ทุกคนที่ผ่านความสนุกสนานกันมาแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย และเป็นไปตามที่บรรดาอาจารย์หมอต่างวิตกกังวล 

เพราะ!! อย่าลืมว่า เมื่อ สงกรานต์ปี 64 มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยในครึ่งเดือนหลังสูงกว่าครึ่งเดือนแรกถึง 3.26 เท่า ที่สำคัญยังเพิ่มมากขึ้นเป็น 4 เท่าในครึ่งเดือนแรกของเดือน พ.ค. 64 ขณะที่ครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 64 ผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 6.67 เท่า

สถิติการติดเชื้อในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่แล้ว จะกลายเป็น “บทเรียน” หรือกลายเป็น “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” คงต้องอดใจรอดู!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”