เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อ Rocket Media Lab ทำรายงานรวบรวมข้อมูลจาก “บัญชีพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่อันตรายของกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2564”ระบุว่า มีจุดเสี่ยงทั้งหมด 469 จุด เขตที่มีจุดเสี่ยงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บางรัก 23 จุด คลองสาน 22 จุด หนองจอก 20 จุด ดอนเมือง 18 จุด และบางขุนเทียน 17 จุด

ส่วนเขตที่มีจุดเสี่ยงน้อยที่สุดคือ วัฒนา 2 จุด และมี 11 เขตที่มีจุดเสี่ยงไม่เกิน 5 จุดได้แก่ ห้วยขวางและธนบุรี 3 จุด ทวีวัฒนา มีนบุรี วังทองหลาง สัมพันธวงศ์ และสายไหม 4 จุด ดุสิต บางกอกใหญ่ พญาไทและสวนหลวง 5 จุด ลักษณะสถานที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ สะพานลอยคนเดินข้าม 57 จุด ตรอก/ซอย 55 จุด ถนน 44 จุด และสวนสาธารณะ 37 จุด ลักษณะความเสี่ยงหรืออันตรายที่พบมากที่สุดคือ เปลี่ยวช่วงกลางคืน 331 จุด รองลงมาเป็น จุดอับ จุดมืด หรือจุดอับสายตา 88 จุด และเป็นจุดที่มีการก่อเหตุ ปล้น ชิง วิ่งราว กรรโชก ลักทรัพย์ 85 จุด ซึ่งเป้าหมายของ กทม. คือยุทธศาสตร์มหานครปลอดภัย ปรับแก้สภาพแวดล้อม

“ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายรักษาความสะอาดเพื่อให้ทำความสะอาดพื้นที่ ตัดต้นไม้ ฝ่ายเทศกิจเพื่อติดป้ายเตือนภัย และฝ่ายโยธาเพื่อแก้ไขเรื่องไฟส่องสว่างหรือซ่อมแซมกล้องวงจรปิด จากนั้นเทศกิจมีหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจตราพื้นที่เสี่ยงภัยจำนวนอย่างน้อยจุดละ 2 ครั้งต่อวัน และตรวจสอบการทำงานของกล้องวงจรปิด มาตรการเหล่านี้ใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ และเป็นงบประมาณด้านบุคลากร เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ เขตไม่มีการเบิกงบประมาณเพิ่ม ข้อมูลจากบัญชีพื้นที่เสี่ยงฯ ระบุการดำเนินการของสำนักเทศกิจว่า ใช้ตรวจตราและเฝ้าระวังมากที่สุด 375 จุด รองลงมาเป็น การติดป้ายประชาสัมพันธ์/ป้ายแจ้งเตือน 204 จุด และอันดับที่ 3 คือ ตรวจสอบการทำงานของกล้องซีซีทีวี 195 จุด”รายงานระบุ

รายงานระบุว่า การติดตั้งกล้องซีซีทีวีเป็นความรับผิดชอบของสำนักการจราจรและขนส่ง จากฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจกล่าวได้การติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพื่อเฝ้าระวังจุดเสี่ยงภัยในพื้นที่ชุมชนชัดเจนมากขึ้นใน พ.ศ. 2554 เพราะเริ่มมีการจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องซีซีทีวีบริเวณชุมชน ตลาด จุดเปลี่ยนถ่ายในการเดินทาง และจุดเสี่ยงภัยอย่างจริงจังรวม 327.60 ล้านบาท และจ้างเหมาเชื่อมโยงสัญญาณภาพไปที่สถานีตำรวจรวม 402.05 ล้านบาท จากนั้น พ.ศ. 2555 อาจกล่าวได้ว่าจัดซื้อกล้องซีซีทีวีเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดในช่วง พ.ศ. 2543-2560 มีทั้งการปรับปรุงและติดตั้งเพิ่มในเขตต่างๆ ทั้งกรุงเทพฯ ชั้นนอก ชั้นใน ตะวันตก ตะวันออก สถานศึกษา ภายในสำนักงานเขต สวนสาธารณะ ศูนย์เยาวชน ศูนย์กีฬา และห้องสมุดประชาชน ใช้งบประมาณรวม 2,866.69 ล้านบาท

จากการสำรวจข้อบัญญัติงบประมาณ กทม.ระหว่าง พ.ศ. 2559-2564 ซึ่งตรงกับช่วงที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองเป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่างบประมาณการติดตั้งกล้องวงจรปิดในกรุงเทพฯ รวมแล้วกว่า 2,086.58 ล้านบาท แผนปฏิบัติราชการ กทม.พ.ศ. 2565 ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 10 มี.ค. 2563 กทม. ติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไปแล้วกว่า 56,561 ตัว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร.) ก็ติดตั้งเองด้วย เริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มแรกติดตั้งกล้องไร้สายที่ใช้สัญญาณผ่านโทรศัพท์มือถือ 3,000 ตัว จนเพิ่มเป็น 9,138 ตัวในพื้นที่ 5,606 จุดในเดือน ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเป็นผู้ติดตั้ง และตำรวจสายสืบ 1 คนรับผิดชอบกล้อง 10 ตัว ซึ่งจะมีโปรแกรมอยู่ในโทรศัพท์มือถือ รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2564 ระบุว่า การติดตั้งกล้องนำไปสู่การปิดคดีอาชญากรรมบนท้องถนนได้ 72 คดี อยู่ระหว่างการติดตั้งระยะที่ 2 อีก 8,712 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมจุดเสี่ยงอีก 5,134 จุด