เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมด้วยครอบครัวผู้เสียชีวิต น.ส.อรุณพิลาศ จันทรเลิศ อายุ 52 ปี มารดาของ น.ส.กัลยรัตน์ จันทรเลิศ หรือน้องเนส อายุ 17 ปี และนายนเรศน์ อารีย์มิตร อายุ 54 ปี บิดาของ น.ส.ชลธิชา อารีย์มิตร อายุ 17 ปี 2 นักศึกษาชั้น ปวช. ปี 2 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.บ้านแหลม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ที่ถูกนายสุวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี คนขับรถโตโยต้า ไฮลักซ์ไทเกอร์ สีน้ำเงิน ขณะเมาแอลกอฮอล์ชนจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 65 เวลา 15.16 น. บริเวณถนนทางลงต่างระดับ นอกเมือง ต.บ้านแหลม อ.เมือง จ.เพชรบุรี

ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ สูงถึง 167 มิลลิกรัม แต่หลังเกิดเหตุคู่กรณีไม่มีการเยียวยาชดใช้ค่าสินไหม หรือแม้แต่คำขอโทษแต่อย่างใด แจ้งกับญาติผู้เสียชีวิตแค่เพียงว่า ถ้าอยากได้ให้ไปฟ้อง จึงเข้าร้องขอความช่วยเหลือกับ ทนายรณณงค์ พาทั้ง 2 ครอบครัวเข้ายื่นหนังสือต่อ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ช่วยติดตามการอุทธรณ์คดี เพิ่มโทษและดำเนินการติดตามค่าเสียหายจากผู้ก่อเหตุ โดยมีนายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

น.ส.อรุณพิลาศ มารดาน้องเนส กล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นผ่านมาเกือบ 1 ปี ตนและครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยา ชดเชย ความเสียหายใดๆ จากคู่กรณี มีเพียงเงินช่วยเหลือในส่วนของหน่วยงานราชการ โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเพชรบุรี กระทรวงยุติธรรม 90,000 บาท แต่ก็ยังต้องไปกู้เงินนอกระบบกว่า 100,000 บาท เพื่อมาจัดงานศพ เพราะทางผู้ก่อเหตุ รถไม่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ทั้งยังยืนกรานต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่า หากตนต้องการเรียกร้องความเสียหายก็ให้ไปฟ้องศาลแทน รวมถึงช่วงแรกๆ ก็ไม่ยอมรับสารภาพ กระทั่งเข้าสู่กระบวนการ จึงจำนนต่อหลักฐานรับสารภาพ

น.ส.อรุณพิลาศ กล่าวอีกว่า วันเกิดเหตุน้องเนสและน้องแนนขอไปซื้อของเอามาขายออนไลน์ ช่วงขากลับลูกสาวประสบอุบัติเหตุ ทุกวันนี้ตนยังทุกข์ใจ และคิดถึงลูกสาวทุกวัน ไม่มีทางทำใจได้เพราะมีลูกสาวแค่คนเดียว และที่สำคัญอัตราโทษจำคุกที่ผู้ต้องหาได้รับนั้น น้อยเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหาถูกสั่งจำคุก 3 ปี แต่ศาลสั่งลงโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปีครึ่ง ขณะที่ลูกสาวตนไม่มีวันฟื้นกลับมา อีกทั้งคำขอโทษจากผู้ต้องหาก็ไม่มีสักคำ

ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า วันนี้พาทั้ง 2 ครอบครัวมาร้องขอให้กระทรวงยุติธรรม จัดหาทนายความอาสาทำหน้าที่ฟ้องอุทธรณ์และฟ้องแพ่งกับนายจ้าง เจ้าของรถ และเป็นนายจ้างของผู้ต้องหา โดยต้องไปดูในส่วนของรายละเอียดว่า นายจ้างนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องมากแค่ไหน ซึ่งกรณีการอุทธรณ์ พนักงานอัยการสามารถดำเนินการได้

ทนายรณณรงค์ กล่าวอีกว่า ย้อนไปวันเกิดเหตุ ช่วงเวลาประมาณบ่ายสาม น้องทั้งสองถูกผู้ต้องหาขับรถชน แต่ในเวลา 20.00 น. วันเดียวกัน นายจ้างเจ้าของรถ กลับเดินทางไปแจ้งความรถหาย มองว่าเป็นการเบี่ยงเบนคดีหรือไม่ และวัตถุประสงค์คืออะไร ต้องการปฏิเสธความรับผิดชอบหรือไม่ หากเป็นเจ้าของรถจริงต้องถามข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหา เอารถไปขับเพราะอะไร เป็นการยืมนายจ้าง หรือเอามาขับเอง ส่วนข้อกล่าวหาที่ผู้ต้องหาถูกแจ้ง ได้แก่ ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และความผิดฐานพกพาอาวุธปืนติดตัวเข้าไปในไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน

นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เผยว่า ทาง ยธ. ยินดีจะให้ความช่วยเหลือ จัดหาทนายความให้ทั้ง 2 ครอบครัว และจะประสานเร่งไปที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเพชรบุรี เพื่อพิจารณาอนุมัติในการเข้าไปช่วยเหลือ ในส่วนค่าเสียหายเพิ่มเติม แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรม ได้อนุมัติให้การช่วยเหลือไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จ่ายรายละ 90,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่ผู้ต้องหาเมาแล้วขับ ตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมควรตระหนักในความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น และเรายินดีจะสานต่อให้ความช่วยเหลือทั้งสองบ้าน เพื่อคลายข้อกังวลและคืนความยุติธรรมให้น้องทั้งคู่โดยเร็ว.