เป็นข้อมูลที่น่าสนใจจาก SDG Move TH ระบุว่า แนวชายฝั่งตั้งแต่ออสเตรเลีย เคนยา จนไปถึงเม็กซิโก พบแนวปะการังที่มีสีสันสดใสหลายแห่งทั่วโลกกำลังกลายเป็นสีขาวอย่างน่ากลัว โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (ICRI) ประกาศว่า โลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.พ. ปี 66 พบว่า อย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้นํ้าในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 41 ปี 53 และระหว่างปี 57 – 60 ล้วนเกิดขึ้นในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ

“ปะการังฟอกขาว” เกิดจากการที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี ซึ่งเกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมินํ้าทะเลสูงเกินไป และเมื่อเกิดแล้วอาจก่อให้เกิดโรค หรือกระทั่งตายได้ หากภาวะนั้นยังไม่ได้รับการเยียวยา

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า พื้นที่แนวปะการังมากกว่า 54% ในมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเผชิญกับการที่ปะการังจะเกิดความเครียดจากความร้อน ทำให้ปะการังมีสีจางลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว ขณะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังกว้างใหญ่ที่สุดของโลกและสามารถมองเห็นได้จากอวกาศก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับแนวปะการังที่กว้างใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ทะเลแดง (Red Sea) ที่ตั้งอยู่ระหว่างทวีปแอฟริกา และทวีปเอเชีย รวมถึงอ่าวเปอร์เซีย

นอกจากนี้ เมื่อเดือนส.ค. ปี 66 พบว่า แนวปะการังในทะเลแคริบเบียนประสบปัญหาการฟอกขาว เนื่องจากอุณหภูมิผิวนํ้าทะเลอยู่ที่ประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิปกติ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์การฟอกขาวนั้นยังเกิดขึ้นซํ้า ๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จึงคาดการณ์ว่าหากโลกมีอุณหภูมิสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส แนวปะการังทั่วโลกอาจสูญหายไป 70-90% โดยปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลขนี้ก็เพียงพอที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแนวปะการัง

จากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นกำลังกัดกินพื้นที่ครอบคลุมไปทั่วโลก ดังนั้น ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยปรับปรุงสภาพการอยู่รอดของแนวปะการัง เนื่องจากยังมีคนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาปะการังในฐานะแหล่งสารอาหาร รวมถึงเป็นแหล่งพักอาศัยสำคัญ และแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลมากมาย นอกจากนี้ แนวปะการังยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศด้านต่าง ๆ เช่น การชะลอคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลมในมหาสมุทรอีกด้วย

สอดคล้องกับที่ “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า NOAA ประกาศ “ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ“ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ สองครั้งหลังเกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงความรุนแรงของโลกร้อนทะเลเดือด ปัจจุบันมี 53 ประเทศใน 3 มหาสมุทร เกิดปะการังฟอกขาวแล้ว คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก ในทะเลไทย อุณหภูมินํ้าทะเลสูงขึ้นในช่วงปลาย มี.ค. ต้น เม.ย. แต่คงที่ ลดเล็กน้อยในช่วงสงกรานต์ ยังไม่พบปะการังฟอกขาวอย่างชัดเจนในขณะนี้ ต้องเฝ้าระวังปะการังฟอกขาวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสิ้น เม.ย. ตลอดเดือน พ.ค. อันเป็นช่วงวิกฤติ

การลดผลกระทบด้านอื่น ๆ ในแนวปะการัง เช่น ตะกอน นํ้าทิ้ง การท่องเที่ยว แพลงก์ตอนบลูม เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มความทนทานของระบบนิเวศ การย้ายปะการัง เก็บสะสมพ่อแม่พันธุ์ อาจจำเป็นหากเกิดฟอกขาวรุนแรง แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ภายใต้การดูแลของกรมทะเล ผู้เชี่ยวชาญ การลดจำนวนนักท่องเที่ยว ปิดบางพื้นที่ อาจจำเป็นแต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวควบคู่กันไป การสร้างแหล่งดำนํ้าอื่น ๆ เพื่อดึงคนออกจากแนวปะการัง มีส่วนช่วยได้ เช่น เรือปราบ

ทางศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ระบุถึงปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่นอุณหภูมินํ้าทะเลสูงเกินไป มีนํ้าจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกนํ้าจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยนํ้าเสีย การใช้ครีมกันแดด การทิ้งขยะตามแนวชายหาดก็ล้วนมีผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาจากเนื้อเยื่อของปะการังเพื่อความอยู่รอดแนะนำถึงการดูแลรักษา และอนุรักษ์แนวปะการังได้ เริ่มจากการลดการสร้างมลพิษที่สามารถทำได้ดังต่อไปนี้ ลดการใช้รถโดยไม่จำเป็น ลดการเผาสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการกระทำที่จะเป็นการทำลายแนวปะการัง ด้วยการทำระบบบำบัดนํ้าเสีย ระมัดระวังการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพราะเมื่อถูกชะล้างลงสู่ทะเลจะส่งผลกระทบต่อสาหร่ายในแนวปะการัง ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล.