จากกรณีเกิดมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังรอการระบายหลายจุด เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ในเว็บไซต์ Rocket Media Lab ซึ่งเป็นสื่อรวบรวมข้อมูลสถิติด้านต่างๆ ได้รวบรวมปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ โดยมีข้อมูลระบุว่า ที่มาของปริมาณน้ำในกรุงเทพฯ นั้น มีทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่กรุงเทพฯ เอง น้ำทุ่งที่ไหลมาจากพื้นที่ด้านตะวันออกและด้านเหนือของกรุงเทพฯ น้ำเหนือที่ไหลมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และน้ำทะเลหนุน ภาวะน้ำท่วมหรือน้ำรอการระบาย เกิดขึ้นเมื่อน้ำมีมากเกินกว่าที่แหล่งรองรับน้ำหรือทางระบายน้ำจะรับได้ทันในช่วงเวลาหนึ่ง

รายงานแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครประจำปี 2564 ของสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ผังเมืองที่ขาดการควบคุมทำให้เมืองไม่มีแหล่งรองรับน้ำ และมีขนาดท่อระบายน้ำที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างเล็ก ซึ่งนายสมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ระบุว่าท่อระบายน้ำเก่าของ กทม.มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-60 เซนติเมตร หากมีน้ำมามากหรือมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ก็จะระบายไม่ทัน

ขณะเดียวกัน ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ก็ทำให้การระบายน้ำลำบากขึ้น กรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งพื้นที่เป็นสองฝั่ง โดยฝั่งธนบุรีเป็นพื้นที่ดอน ขณะที่ฝั่งพระนครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่บางส่วนมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หากเป็นพื้นที่ระดับความสูงปกติ น้ำจะไหลลงคูคลองหรือแหล่งระบายน้ำ ไปรวมกันในอุโมงค์ระบายน้ำ ก่อนจะถูกสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากอยู่ในพื้นที่ต่ำก็ระบายลงคลองไม่ได้ ถือเป็นปัญหาระยะยาว อีกทั้งแผ่นดินกรุงเทพทรุดตัวทุกปี ปัจจุบันพบว่า กรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเท่านั้น ขณะที่รายงานของกรีนพีซระบุว่า พื้นที่ในกรุงเทพฯ มากกว่าร้อยละ 96 เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำภายในปี 2573

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ ปี 2564 พบว่าในพื้นที่ 50 เขตของ กทม.นั้นมีจุดเสี่ยงน้ำท่วมขัง ที่แม้ฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตร ก็ทำให้น้ำท่วมอยู่ 12 จุด โดยลดลงจาก 14 จุดในปี 2563 ซึ่งจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ลดลง 2 แห่งนี้อยู่ใน เขตจตุจักร ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร และเขตมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ ช่วงจากคลองสามวา ถึงคลองแสนแสบ ขณะที่จุดเฝ้าระวังในปี 2564 มี 51 จุด ลดลงจาก 56 จุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลมาจากโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน กทม. อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงน้ำท่วมขังและจุดเฝ้าระวังที่สำนักการระบายน้ำระบุนั้น ล้วนอยู่บนถนนสายหลัก แต่ตรอก ซอย ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นก็ยังมีจุดเสี่ยง ในพื้นที่ กทม.นั้น มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมรวมถนนสายหลัก ตรอก ซอยกว่า 337 จุด

เขตที่มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดก็คือสาทร 3 จุด รองลงมาก็คือราชเทวีและบางแคเขตละ 2 จุด ในขณะที่เขตที่มีจุดเฝ้าระวังมากที่สุดนั้น คือจตุจักร 7 จุด รองลงมาคือดินแดง 6 จุด และพญาไท 5 จุด และหากพิจารณาจากข้อมูลจำนวนคลองรายเขต ซึ่งจะเป็นแหล่งในการปล่อยน้ำในช่วงเวลาที่เกิดฝนตกก็จะพบว่าพญาไทและราชเทวีนั้นมีจำนวนคลองเพียงแค่เขตละ 1 คลองเท่านั้นเอง โดยที่ทั้งพญาไทและราชเทวีอยู่ในเขตอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่คืออุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน และพญาไทก็ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็กด้วยอีกหนึ่งอุโมงค์

และแม้จะมีการแก้ไขและพยายามลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังไปแล้ว แต่ยังมีบางพื้นที่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ อาทิ เขตห้วยขวาง บริเวณซอย อสมท พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นของเอกชน ซึ่ง กทม.ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้ หรือในกรณีของเขตที่เชื่อมต่อกับพื้นที่จังหวัดอื่น อย่างพื้นที่ซอยแบริ่งหรือสุขุมวิท 107 ซึ่งนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าเป็นพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องสูบน้ำออกไปยังคลองสำโรง ปัญหาน้ำรอการระบายใน กทม. จึงแก้ไขได้เป็นหย่อมๆ เท่าที่ กทม.จะเข้าถึงพื้นที่ได้

สื่อ Rocket Media Lab ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะมีจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมมากกว่าที่ กทม. รายงาน เมื่อเกิดฝนตกอย่างหนัก เช่น ในเขตห้วยขวาง ที่ตามรายงานแล้วมีจุดเฝ้าระวังเพียงหนึ่งจุด แต่จากการรายงานข่าวในช่วงวันที่มีฝนตกหนักในแต่ละครั้งมักจะพบว่า มีจุดที่มีน้ำท่วมขังมากกว่าหนึ่งจุด ไม่ว่าจะเป็น ซอยประชาอุทิศ ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ หลายจุดบนบนนรัชดาภิเษก โดยเฉพาะอุโมงค์ห้วยขวาง ฯลฯ หรือเขตลาดพร้าว ไม่มีจุดเสี่ยงหรือจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม แต่ก็ปรากฏตามรายงานข่าวว่ามีน้ำท่วมขังเกือบทุกครั้งที่มีฝนตกหนัก

สำหรับระบบแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมจากน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง โดยการทำคันกันน้ำป้องกันน้ำท่วม เพื่อป้องกันน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูง คือมีไว้เพื่อป้องกันน้ำริมตลิ่ง น้ำจากเจ้าแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะบ่าล้นเข้ามาในพื้นที่ กทม. วิธีนี้เริ่มใช้หลังอุทกภัยปี 2526 โดยสร้างแล้วเสร็จในปี 2528 จนกระทั่งหลังอุทกภัยปี 2554 ได้เสริมคันกั้นน้ำเพิ่มอีก ปัจจุบันแนวป้องกันน้ำท่วมมีอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนง มีความยาวริมตลิ่ง 87.93 กิโลเมตร เป็นแนวป้องกันตนเอง 9 กิโลเมตร และที่สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม ยาว 78.93 กิโลเมตร แต่แนวป้องกันยังไม่สามารถป้องกันได้เบ็ดเสร็จ

ส่วนระบบระบายน้ำ ปัจจุบันขีดความสามารถของระบบระบายน้ำสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนตกสะสมรวมได้ไม่เกิน 60 มิลลิเมตรใน 1 วัน (ใน 1 วันโดยเฉลี่ยแล้วฝนตกประมาณ 3 ชั่วโมง) หรือความเข้มข้นของฝนไม่เกิน 58.7 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยมีระบบระบายน้ำต่างๆ ไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย ได้แก่

1 ท่อระบายน้ำ ความยาว 6,564 กิโลเมตร แบ่งเป็นถนนสายหลัก 2,050 กิโลเมตร ในตรอก ซอย ยาว 4,514 กิโลเมตร มีขนาดมาตรฐานมีตั้งแต่ขนาด 30 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร หากท่อไหนมีขนาดเล็กราวๆ 30 เซนติเมตรหรือ 60 เซนติเมตร นั่นคือระบบท่อเก่าที่สร้างมานานแล้ว และต้องมีระบบลอกท่อซึ่งแต่ละเขตได้งบประมาณไม่เท่ากัน และไม่สามารถลอกได้ทั้งหมดในปีงบประมาณเดียว ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำในปี 2564 ระบุว่ามีการล้างท่อระบายน้ำเกือบทั้งปี เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.2563-พ.ค. 2564 สามารถทำได้เพียง 493 กิโลเมตรเท่านั้น หรือเพียงร้อยละ 7.51 ของความยาวท่อทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ 360 กิโลเมตร จ้างแรงงานชั่วคราว 70 คน ความยาว 61 กิโลเมตร และใช้รถดูดเลนของสำนักระบายน้ำ 8 คัน ความยาว 72 กิโลเมตร

2.คูคลองระบายน้ำ 1,980 สาย ความยาว 2,743 กิโลเมตร แต่ละคลองมีกำหนดให้ขุดลอกทุก 2-3 ปีต่อครั้ง นอกจากนี้ กทม.ชี้ว่ามีการเก็บขยะผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับและระบายน้ำเมื่อมีฝนตก

3.อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จะเร่งระบายน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ผ่านระบบคลอง ปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร ประสิทธิภาพการระบายน้ำ 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กำลังก่อสร้างอีก 6 แห่ง ความยาว 39.625 กิโลเมตร ประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 238 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่อุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็กเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในจุดเสี่ยงน้ำท่วมในถนนสายหลัก ซึ่งจะรับน้ำจากท่อระบายน้ำในถนน ระบายผ่านอุโมงค์ มาสู่คลอง และส่งไปยังสถานีสูบน้ำเพื่อรอปล่อยน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีจำนวน 4 แห่ง ความยาว 6.10 กิโลเมตร ขีดความสามารถในการระบายน้ำคือ 20.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

4.โครงการแก้มลิง โดยการจัดหาบึง สระ เป็นที่รองรับน้ำ (รวมถึงบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน หรือ water bank) ใช้ในกรณีที่มีฝนตกหนักและนำน้ำเข้ามาเก็บกักไว้ในแก้มลิงชั่วคราว เมื่อน้ำในคลองมีสภาพปกติ จึงค่อยระบายน้ำออกจากแก้มลิงไปท่อระบายน้ำ คลอง แม่น้ำ สู่สถานีสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ปัจจุบันมีแก้มลิง 32 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 13.42 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีบ่อหน่วงน้ำใต้ดินที่เพิ่งสร้างเสร็จไป 2 แห่ง คือบริเวณ สน.บางเขน และปากซอยสุทธิพร 2

5.ระบบสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน กทม. มีสถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง บ่อสูบน้ำ 329 แห่ง โดยขีดความสามารถคือ 2,467.69 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่พร้อมใช้งานชนิดไฟฟ้าและเครื่องยนต์ทั่ว กทม. จำนวน 483 จุด รวม 1,121 เครื่อง ปริมาตรการสูบน้ำทั่วกรุง 806.60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งในส่วนของประตูระบายน้ำนั้น ปัญหาที่พบคือบางจุดยังใช้ระบบเปิด-ปิดด้วยแรงงานจนบางครั้งจะไม่ทันสถานการณ์

ทั้งหมดจะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ นั้นเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกันหลายส่วน ต้องทำทั้งนโยบายลอกท่อ ลอกคลอง ถึงนโยบายแผนในอนาคตคืออุโมงค์ระบายน้ำหรือแก้มลิง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Rocket Media Lab