สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ว่า ทางการสหรัฐ ยืนยันการพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกคนที่ 2 ในประเทศ หลังฝูงสัตว์มีอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัส จากการสัมผัสกับนกป่าในรัฐเทกซัส, รัฐแคนซัส และรัฐอื่น ๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ผู้ป่วยรายงานว่า มีอาการตาแดงเพียงอย่างเดียว และกำลังรักษาตัวอยู่” ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) ระบุเสริมว่า พวกเขาบอกให้ผู้ป่วยกักตัว และรักษาตัวด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้ว

ทั้งนี้ การระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน เริ่มต้นเมื่อปี 2563 ส่งผลให้สัตว์ปีกตายเป็นจำนวนหลายสิบล้านตัว อีกทั้งนกป่า และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งบนบกและในทะเล ต่างติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เช่นกัน โดยวัวและแพะ รวมอยู่ในรายชื่อสัตว์ที่ติดเชื้อ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตกใจ เพราะพวกเขาไม่คิดว่า สัตว์ข้างต้นจะได้รับผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่ประเภทนี้

ด้านนางลูอิส มอนคลา นักพยาธิชีววิทยา จากโรงเรียนสัตวแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก น่าจะเป็นคนงานในฟาร์ม

“หากเราพบคลัสเตอร์ไข้หวัดนกในวัวอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า พวกเราต้องเริ่มเฝ้าระวังวัว และมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อความคิดของเรา เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเหล่านี้ แต่ในเวลานี้ สาธารณชนไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป” มอนคลา กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ซีดีซี ระบุว่า การติดเชื้อไข้หวัดนกดังกล่าว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพของมนุษย์ในสหรัฐ ซึ่งพบว่ามีอัตราที่ต่ำ เช่นเดียวกับกรมอนามัยของรัฐเทกซัส ที่ระบุว่า การติดเชื้อในโคนม ไม่ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด เนื่องจากโรงนมจำเป็นต้องทำลายน้ำนมจากวัวที่ป่วย และการพาสเจอไรซ์ ก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้.

เครดิตภาพ : AFP