เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นางสเตฟาเนีย จีอันนินี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษา แห่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาใหม่ที่ทั่วโลกเผชิญพร้อมกัน ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางการรับมือเรื่องดังกล่าวแตกต่างกันอออกไป โดยเฉพาะนโยบายด้านการบริหารจัดการศึกษาท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ตนอยากให้มองคือ วิกฤติที่เกิดขึ้น กลายเป็นโอกาสที่จะได้ปฏิรูปเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาของรัฐบาลแต่ละประเทศ โควิด-19 ทำให้ตระหนักว่าการศึกษาสำคัญอย่างไร และมองเห็นว่าการศึกษาของแต่ละชาติมีปัญหาอยู่ตรงไหน ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความตื่นตัวนี้หายไป และใช้ความพยายามให้มากขึ้นในการผลักดันการศึกษาที่มีคุณภาพ

นางสเตฟาเนีย กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาที่น่ากลัวหลังวิกฤติโควิดคือคนยากจนจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการปฏิรูประบบการศึกษาจึงต้องคำนึงปัจจัยดังกล่าว โดยแนวทางปฏิบัติไม่เพียงแต่ต้องมุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงทักษะทางอารมณ์สังคม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ และผลกระทบระยะยาวที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม ซึ่งจะต้องมี 3 กุญแจหลักเพื่อแก้ปัญหา คือ Recovery การฟื้นฟูผลกระทบจากความเสียหายของไวรัสโควิด-19 Resilience การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ Change การปรับเปลี่ยนมุมมองแนวคิด และวิธีการในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังมีโอกาสของการจัดการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษา จึงอยากให้มองว่าห้วงเวลานี้คือการเปลี่ยนผ่านและจังหวะของการลงมือทำเพื่อยกระดับพัฒนา

“กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.จะเป็นหนึ่งในจุดแข็งของอาเซียน และเป็นตัวอย่างการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้นานาประเทศได้เรียนรู้ และให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ทั้งในแง่ของการยกระดับการเข้าถึงการศึกษาถ้วนหน้าเพื่อความเสมอภาค และการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ ส่วนประเด็นด้านการศึกษาในอาเซียนที่อยากให้เน้นย้ำ คือการปรับหลักสูตรที่หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลกมากขึ้น ขณะที่ในการฟื้นฟูการศึกษาจากโควิด-19 อยากเน้นว่าอย่าปิดโรงเรียน เพราะสิ่งสำคัญของการศึกษาคือการที่ครูและนักเรียนได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน จุดแข็งของประเทศไทย คือการที่มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างจริงจัง มีองค์กรอย่าง กสศ. คอยทำหน้าที่อำนวยการศึกษาให้เข้าถึงเด็กทุกคน ซึ่งเชื่อว่า กสศ. และประเทศไทย จะเป็นหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในเรื่องการดำเนินงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษาให้นานาประเทศได้เรียนรู้ต่อไป” นางสเตฟาเนีย  

นางสเตฟาเนีย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามกุญแจการจัดการปัญหาด้านการศึกษาในขณะนี้ คือการนำหลักการที่วางไว้ทั้งหลายมาลงมือทำและให้ความสำคัญกับคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มาก เพราะว่าคนเหล่านี้เอง ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลนานาประเทศต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลไม่ควรละเลยเรื่องการศึกษา โดยต้องให้น้ำหนักด้านการศึกษาเท่าเทียมกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน