ด้าน นพ.ชิเงรุ โอมิ หนึ่งในที่ปรึกษาเฉพาะกิจด้านการตอบสนองต่อโรคโควิด-19 ของรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า การที่โอลิมปิกเกิดขึ้นในเวลานี้พอดี "เป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก" ต่อภารกิจควบคุมโรค เนื่องจากการรับรู้ของประชาชนให้ความสนใจไปที่มหกรรมกีฬาระดับโลก มากกว่าต้องเฝ้าระวังตัวเองอย่างเคร่งครัด ขณะที่การสื่อสารของภาครัฐในหลายเรื่อง "ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน" และ "คลุมเครือ"
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ว่าสำนักงานสาธารณสุขกรุงโตเกียวรายงานสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมอย่างน้อย 231,096 คน เพิ่มขึ้น 4,166 คน เป็นสถิติรายวันสูงสุด นับตั้งแต่เมืองหลวงของญี่ปุ่นเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรค เมื่อต้นปีที่แล้ว และทำลายสถิติผู้ป่วยยืนยัน 4,058 คน ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา 
ขณะที่สถิติสะสมของผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในกรุงโตเกียว มีจำนวนอย่างน้อย 2,300 คน โดยยังมีผู้ป่วยต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีกอย่างน้อย 3,351 คน ในจำนวนนี้ 112 คนมีอาการอยู่ในระดับวิกฤติ
ส่วนนายโนริฮิสะ ทามูระ รมว.สาธารณสุขของญี่ปุ่น ยอมรับว่า อัตราการติดเชื้อในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น "ในอัตราเร่งแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ซึ่งเป็นผลจากเชื้อกลายพันธุ์เดลตา และยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายด้วยการสงวนเตียงให้กับ "ผู้ป่วยอาการวิกฤติเท่านั้น" ไม่ใช่มาตรการบังคับใช้ถาวร รัฐบาลพร้อมยืดหยุ่น "หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น".

เครดิตภาพ : AP