เชื่อว่าทำให้ใครหลายคน เริ่มมีข้อสงสัยและกังวลกันไม่น้อย ในโรคฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร เกิดจากสาเหตุอะไร อาการน่ากลัวไหม และมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน วันนี้ เดลินิวส์ออนไลน์ จะพาทุกคนไปย้อนทำความรู้จักกับโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงหรือโรคฝีดาษวานร (Monnkeypox Virus) เริ่มมีข่าวถึงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกาจนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1-10% ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลักคือ

  • สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
  • สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%

เป็นโรคที่ ใกล้เคียงกับโรคอีสุกอีใสหรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมกับมีตุ่มผื่นตุ่มหนองทั่วตัว และต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งในปัจุบันเราตรวจพบรายแรกที่ไทยแล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ด่วน! พบแล้ว ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทยโผล่ภูเก็ตเป็นชายชาวไนจีเรีย

อาการโรคฝีดาษลิง

  • ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0-5 วัน มีไข้, ปวดศีรษะมาก, ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก  ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน (อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ)
  • ระยะออกผื่น ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้ง ใบหน้า, ฝ่ามือฝ่าเท้า, เยื่อบุช่องปาก, อวัยวะเพศ, เยื่อบุตา และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย

โดยระยะฝักตัวจะอยู่ที่ 7-21 วัน ผื่นเริ่มจากผื่นแดงค่อยเป็นผื่นนูน (ตุ่มแข็งเล็กน้อย) กลายเป็นถุงน้ำ (มีของเหลวใสอยู่ภายใน) เกิดตุ่มหนอง (มีของเหลวสีเหลืองอยู่ภายใน) และเป็นฝีจนตุ่มหนองแตกแห้งเป็นสะเก็ด ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น

โรคไข้ฝีดาษลิง รักษาได้ไหม?

จากผลสำรวจพบว่า ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน (ผู้ที่เกิดก่อน พ.ศ. 2523) หรือมีอายุมากกว่า 42 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยกว่า ผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน 5 เท่า หรือลดโอกาสการเป็นโรคได้ 80-90%

ปัจจุบัน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงที่มีอาการรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคได้เอง ในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว จะมีการรักษาโดยใช้ยา Tecovirimat, Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคไข้ทรพิษ

วิธีป้องกัน “โรคฝีดาษลิง”

  • ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
  • ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
  • เชื้อไวรัสฝีดาษลิงเป็นเชื้อที่มีโปรตีนหุ้ม ซึ่งสามารถถูกทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
  • สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตามมีวิธีป้องกันตัวเองเบื้ยงต้น คือการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากอนามัย เพราะยังสามารถช่วยป้องกันจากโรคฝีดาษลิงนี้ได้ และโรคโควิด-19, โรคไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย…

ผวาหนัก!สะพัดคนไข้ ‘ฝีดาษลิง’ รายแรกในไทยหนีจากรพ. ผู้ว่าฯภูเก็ตเตรียมแถลงด่วน

ขอบคุณข้อมูล : @แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี, @โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม