เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ส.ค. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา และเกิดเหตุการณ์สภาล่มและอาจจะทำให้การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทันภายใน 180 วัน ว่าตนไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้สภาเสื่อมเสีย เท่าที่ทราบคือมีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส.ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย แต่เมื่อ ส.ส.บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุมก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส.ให้กลับบ้าน อ้างว่า “นายสั่งให้กลับ” ซึ่งมีหลายคนมาเล่าให้ฟัง แม้กระทั่ง ส.ส.พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน และเนื่องจากว่าเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทำให้ ส.ส.หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดสภาก็ล่ม
 
“สภาล่มไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับหนึ่งและสอง ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าสภา ต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร 100 ตามร่างที่ กกต.ยื่นเข้ามาในตอนแรก การกระทำเช่นนี้ ผมรับไม่ได้ ถ้ามาเล่นนอกกติกาแบบนี้ ไม่ใช่วิธีที่ลูกผู้ชายทำกัน”
 
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากลัวคือการที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เคยรับปากกันว่าจะมีการประชุมร่วมในวันที่ 9-10 ส.ค.65 และมั่นใจว่าจะสามารถพิจารณากฎหมายลูกทันแน่นอน ตนเชื่อถือนายชวน จึงไม่ขอเสนอเลื่อนวาระประชุม แต่กลายเป็นว่ามีการเตะถ่วงมาตลอดตั้งแต่วันแรกก็เกือบจะล่ม ซึ่งวันนี้ในช่วงบ่ายคงจะมีความชัดเจนเกิดขึ้นได้จากการประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่าจะมีการประชุมตามกำหนดการเดิมหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็ถือว่านายชวนรักษาเกียรติของสภา ปฏิบัติหน้าที่สมกับเป็นประธานรัฐสภา แต่ถ้าผลประชุมบอกว่าไม่มีการเปิดประชุมร่วมแล้ว ตนว่าเรื่องนี้นายชวนต้องรับผิดชอบ ส่วนองค์ประชุมจะล่มอีกหรือไม่ เป็นเรื่องนอกเหนืออำนาจของประธาน ถือว่าได้พยายามดีที่สุดแล้ว

ทางด้าน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า  “มีคนสงสัยถามว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะจบที่สูตร 500 หรือ 100? ตามเกมการเมืองในสภาขณะนี้ น่าจะเห็นเค้าลางคำตอบชัดเจนว่า หาร 100 หลังวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพราะสภาล่มต่อเนื่องด้วยเหตุที่ฝ่ายอยากได้หาร 100 สบช่องทางเดินใหม่ตามคาดแล้ว กล่าวคือรัฐธรรมนูญมาตรา 132(1)… ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131 ซึ่งหมายความว่า รัฐสภาทำหน้าที่พิจารณาไม่เสร็จในวันที่ 15 ส.ค. นี้ ต้องถือว่าสภายอมเห็นชอบตามร่างที่เสนอเข้าสู่สภาในวาระที่ 1 ตามมาตรา 131 ซึ่งมี 4 ร่างคือร่างคณะรัฐมนตรี ร่างพรรคพลังประชารัฐ ร่างพรรคเพื่อไทย และร่างพรรคก้าวไกล ซึ่งทุกร่างใช้สูตรหาร 100 ส่วนจะนำร่างใดส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น คงไม่ใช่หน้าที่ที่จะให้ความเห็นแล้วครับ เพราะในฐานะสมาชิกรัฐสภาและในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คราวนี้ ถือว่าได้ทำหน้าที่ครบถ้วนแล้ว แม้จะไม่สมบูรณ์ เพราะขบวนการล่มสภา ซึ่งพูดไม่ออกครับ สงสารท่านประธานรัฐสภาชวน หลีกภัย อาจารย์ทางกฎหมายที่ผมเคารพอย่างยิ่ง ต้องอดทนอดกลั้นรอขอคะแนนสมาชิกทีละคนทีละมาตรา นานครั้งละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง”
 
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่าในกรณีดังกล่าวด้วยว่า หากรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เสร็จตามกรอบเวลาในวันที่ 15 ส.ค. รัฐธรรมนูญกำหนดให้กลับใช้ร่างที่เสนอมาในชั้นวาระรับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132(1) กำหนดไว้ ทั้งนี้ในชั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 24 ก.พ. รัฐสภาลงมติรับหลักการรวม 4 ฉบับ  ได้แก่ ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคก้าวไกล แม้ในเนื้อหาของมาตราดังกล่าวจะไม่กำหนดว่าให้ใช้ร่างที่เสนอโดย ครม. แต่ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 101 กำหนด รายละเอียดว่า กรณีที่รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ไม่เสร็จตามกรอบเวลา 180 วัน ตามที่รัฐสภาให้บรรจุระเบียบวาระการประชุม ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาในวาระสอง