ปัจจุบัน ด้วยอัตราเกิดของประชากรไทยที่ลดลงจนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กล่าวคือมีประชากรวัยชราเป็นสัดส่วนมากกว่าวัยทำงาน ทำให้หลายภาคส่วนเร่งหาหนทางเพิ่มจำนวนประชากรไทยที่มีความพร้อมต่อการมีบุตร ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการคุมกำเนิดในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่มีความพร้อมในการมีบุตร

เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากคือ การอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้คุมกำเนิดเป็นเวลา12 เดือนแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ ซึ่งสาเหตุของการมีบุตรยากมีหลากหลาย ทั้งจากฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง หรือทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน การดูแลรักษาจึงแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ คู่สามีภรรยาบางคู่มีความเขินอายที่จะถูกระบุว่ามีบุตรยาก อันหมายถึงตนเองไม่แข็งแรง หรือไม่สมบูรณ์ จึงไม่มาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุหรือคำแนะนำ ทำให้พลาดโอกาสที่จะมีลูก ซึ่งบางครั้งง่ายและมีค่าใช้จ่ายน้อย

การตรวจประเมินเพื่อหาสาเหตุและความพร้อมในการมีลูกของแต่ละคู่ ประกอบด้วยการตรวจเลือด เตรียมความพร้อมในการมีบุตร ประเมินการตกไข่ ความสมบูรณ์ของมดลูก ท่อนำไข่ รวมถึงการประเมิน คุณภาพน้ำอสุจิ เพื่อให้สามารถช่วยการมีบุตรที่ต้นเหตุได้ อย่างไรก็ตามหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่พร้อมรับการตรวจ ก็สามารถปรึกษารับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนได้ การรักษาภาวะมีบุตรยาก เน้นรักษาที่ต้นเหตุ และแก้ไขปัญหา บางคู่อาจไม่ต้องพึ่งพายาและเทคโนโลยีขั้นสูง แต่บางคู่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเพื่อให้ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้คู่สามีภรรยาแต่ละคู่ยังสามารถออกแบบความต้องการ และหยุดพักการรักษาหากไม่ต้องการพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับ หน่วยเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา เปิด ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร (CMEx Fertility Center: CFC) ให้บริการให้คำปรึกษาและรักษาคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก ยกระดับบริการแบบครบวงจรสำหรับผู้ที่ต้องการวางแผนมีบุตร หรือผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก one stop service ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ขั้นสูงและเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ภายใต้การดูแลของอาจารย์แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

รศ.พญ.ทวิวัน พันธศรี หัวหน้าศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า “คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้ดำเนินการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มากว่า 30 ปีแล้ว แต่เดิมอยู่ในนามคลินิกมีบุตรยากที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการฝึกอบรม มีการพัฒนาด้านการวิจัย และการบริการอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสถานที่เดิมมีความคับแคบ จึงจำเป็นต้องย้ายมาอยู่ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อที่จะพัฒนาและใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ทันสมัย และสะดวกต่อผู้รับบริการมากขึ้น เรามีการบริการแบบ one stop service ให้จบอยู่ในที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่ บุคคลากร อาจารย์ก็ยังเป็นอาจารย์ชุดเดิมที่มีประสบการณ์ตามมาให้บริการทุกท่านที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คู่สมรสที่วางแผนจะมีบุตร หรือเป็นคู่ที่พยายามแล้วแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ สามารถมารับคำปรึกษาได้ ผู้ป่วยสามารถนัดหมายพบแพทย์ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ออกตรวจทุกวัน มีการประเมินสุขภาพทั่วไป เพื่อหาสาเหตุและหาทางแก้ไข รักษา โดยการใช้เทคโนโลยี แต่ละคู่อาจมีความยากในแต่ละบุคคล จึงจำเป็นต้องให้การรักษาตามแบบที่ต่างกัน เช่น การฉีดน้ำเชื้อ หรือการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละคู่”

แม้ว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจและโรคระบาดในปัจจุบัน ทำให้คู่สามีภรรยาหลายคู่ ต้องการชะลอการมีบุตร แต่ความสำเร็จของการรักษาภาวะมีบุตรยากขึ้นกับ อายุ และความแข็งแรงของทั้งสามี ภรรยา คู่สมรสที่อายุเกิน 35 ปี จึงควรรับคำปรึกษาจากแพทย์แต่เนิ่น ๆ เนื่องด้วยคุณภาพและจำนวนไข่จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลง ซึ่งแพทย์จะประเมินโดยการอัลตราซาวด์ หรือตรวจเลือดตามความเหมาะสม คู่สมรสที่ต้องการพบแพทย์เพื่อวางแผนการมีบุตรสามารถปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ทั่วไป แต่หากมีปัญหาเกี่ยวเนื่องที่ซับซ้อนก็จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชียวชาญทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์

ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร (CMEx Fertility Center: CFC) เปิดให้บริการให้คำปรึกษา และรักษาคู่สมรสที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ และ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดให้บริการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. (เวลาแพทย์ ออกตรวจ 09.00 – 12.00 น.) ณ ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา (ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์) โทร. 053-934714 หรือ 061-806 0888 หรือ ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.facebook.com/CMExFertility