ยังคงอยู่ในช่วงประจำปีของชายไทย ที่จะออกมาทำภารกิจการรับใช้ชาติ จากการตรวจเลือกทหารกองประจำการ หรือที่เราเรียกกันว่า “เกณฑ์ทหาร” แต่หลังจากที่จับได้ “ใบแดง” แล้ว ทหารใหม่ที่จะเข้าประจำการ ผลัดที่ 1 ในวันที่ 1 ก.ย. 63  และรับ-ส่งทหารกองประจาการข้ามเขตกองทัพภาค ในวันที่ 3 ก.ย. 63  และทหารกองประจาการ ผลัดที่ 2 ในวันที่ 1 พ.ย. 63 นั้น ต้องเตรียมตัวยังไงกันบ้าง.. วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” มีคำตอบมาฝาก

จะไปแล้วเตรียมอะไรไปบ้าง?

  • บัตรประชาชน
  • เอกสารลดหย่อนวัน
  • ของต่าง ๆ ไม่ต้องเอาไป เพราะทุกอย่างจะถูกเก็บไว้ทั้งหมด และจะคืนให้หลังจากฝึกทหารใหม่เสร็จ
  • เงินโดนเก็บไว้ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้? ในค่ายใช้ระบบ ลงชื่อไว้ก่อน มาจ่ายเงินทีหลัง พอเงินเดือนออก ก็ค่อยเอาไปจ่าย โดยในค่ายก็จะมีคล้าย ๆ สหกรณ์ที่ขายของ ก็จะมีช่วงเวลาให้ได้ซื้อกัน
  • โทรศัพท์ล่ะ? ไม่ต้องเอาไป ยังไงก็ไม่ได้ใช้ ถ้าใช้อาจจะมีความผิดด้วย ส่วนจดหมายก็เช่นกัน ก่อนเยี่ยมญาติครั้งแรกจะมีการให้ทหารเขียนจดหมายไปถึงที่บ้าน เป็นไปได้ไม่ต้องส่งกลับมา เพราะความหวังดีของญาติมิตร อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับทหารได้
  • แอลกอฮอล์? บุหรี่? งดเด็ดขาดโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ เพราะผิดกฎของทหารเลย ทหารทุกคนห้ามกินในค่ายคส่วนบุหรี่ ทหารใหม่ห้ามสูบเด็ดขาด แต่ถ้าฝึกทหารใหม่เสร็จแล้วก็สูบได้ และดูเหมือนจะสูบกันเยอะมาก ๆ ซะด้วย ถ้าไปเป็นทหารแล้วได้โรคปอดกลับมานี่ไม่ต้องสืบเลย
  • ต้องตัดผมไปเลยไหม? สัสดีแนะนำว่าให้ตัดไปเลย เพราะคนเยอะ ปัตตาเลี่ยนก็จะร้อน และไม่คม แล้วก็อาจจะมีเศษผมติดไปตอนนอนอีก โดยข้างบนเบอร์ 1 ส่วนรอบ ๆ ตัดเกรียน ตรงจอนให้โกนเป็นเส้นตรงแนวนอนตัดประมาณกลางหู หนวดเคราโกน และตัดเล็บให้เรียบร้อย
  • แว่นตา? อย่างที่บอกไว้แล้วว่าเอาไปได้ คนที่ใส่ก็เห็นอยู่รอดปลอดภัยดี แต่ถ้าสั้นไม่เยอะก็ไม่ต้องก็ได้ จะเป็นภาระเปล่าๆ
  • ยารักษาโรค? ถ้าเป็นยาที่กินประจำ
  • ออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก เพราะคนที่มีน้ำหนักเยอะจะเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติ และน้ำหนักก็ยิ่งเป็นภาระ ทำให้ไม่สะดวกเวลาต้องวิ่ง ต้องออกแรงเยอะ ๆ

ก่อนเริ่มเปิดการฝึกทหารใหม่ ทำอะไรกันบ้าง? (ปล.แต่ละค่ายก็อาจจะไม่เหมือนกัน)

  • กรอกประวัติ : ความสามารถพิเศษ อันนี้แล้วแต่ค่ายว่าจะเน้นไปทางด้านไหน หรือกีฬาด้านไหน อันไหนที่เราตรงกับที่ค่าย ก็จะมีกิจกรรมให้เราได้ทำเรื่อย ๆ  แต่กรอกไปเถอะ ถ้าเยอะเกินก็ไม่ดีเดี๋ยวเหนื่อย / ประวัติด้านสุขภาพ โรค และสิ่งเสพติด คือ ในส่วนนี้อยากจะให้กรอกกันตามความเป็นจริง เพราะจะมีประโยชน์ในเวลาที่เราป่วย จะได้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับเรา
  • ถ่ายรูป : ถ่ายหน้าไว้กันหนีทหารจะได้ตามหาง่าย ๆ แต่จริง ๆ ก็จำกันยากอยู่ หัวเกรียนเหมือนกันหมดเลย  
  • ฝากของ : จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือของมีค่า กับของใช้ทั่วไป อย่างเงินนี่ก็จะนับกันทุกบาททุกสตางค์ ของไม่หายแน่นอน และจะได้คืนตอนเราฝึกเสร็จ เสื้อผ้า รองเท้า กางเกงใน บลา ๆ ก็ต้องเอาไปฝาก
  • ตัดผม : ถ้าตัดแล้วก็ผ่านด่านนี้ไปเลย (ข้อมูลได้พูดไปแล้วในข้างต้น)
  • แจกของใช้ : (อันนี้ไม่แน่ใจว่าแต่ละค่ายจะเหมือนกันมั้ย) ของจะมีอยู่ 2 ประเภท ก็คือเป็นเงินหลวง อันนี้จะมีตราอยู่ว่าห้ามซื้อห้ามขายอะไรแบบนี้ อีกส่วนก็คือใช้เงินของเราซื้อ อาทิ เสื้อแขนสั้นสกรีนชื่อเรา กางเกงขาสั้น เข็มขัด รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าคอมแบท ถุงเท้า ผ้าเช็ดตัว ไม้แขวนเสื้อ 
  • วัดร่างกาย : พวกส่วนสูง น้ำหนัก รอบอก / วัดชุดที่จะต้องตัด
  • สิ่งเสพติด / คดี : ตรวจว่าได้เสพยาก่อนมาไหม
  • ตรวจเลือด : อันนี้ไม่แน่ใจว่าเจาะไปตรวจอะไร
  • ฉีดวัคซีน : ฉีดวัคซีนกันบาดทะยัก เนื่องจากการฝึกทหารต้องสัมผัสกับพื้นดิน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • แบบทดสอบความเครียด : ผมเชื่อว่าทุกคนเครียด กับการมาเป็นทหาร แต่ความเครียดของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ถ้าผลทดสอบออกมาว่าเครียดมาก ก็จะได้ทำแบบทดสอบชุดต่อไป ก็คือแบบทดสอบความอยากฆ่าตัวตาย ว่าเคยคิดฆ่าตัวตายไหม?ถ้ามีปัญหาจริง ๆ ก็จะได้รับการรักษาตามขั้นตอนต่อ ๆ ไป
  • ตัดเล็บให้สั้นที่สุด และโกนจอนไม่ให้ยาว ตลอดเวลาที่เป็นทหาร

หน่วยฝึกทหารใหม่คืออะไร?
เมื่อเราไปเป็นทหารเกณฑ์ สิ่งแรกที่เราจะเป็นนั่นก็คือ “ทหารใหม่”  ทหารใหม่ถือว่าเป็นน้องเล็กสุดของค่าย ดังนั้นก็ต้องทำความเคารพทุกคนที่มาก่อน เรื่องอายุไม่เกี่ยว มาก่อนเป็นพี่ มาทีหลังเป็นน้อง และเคารพกันตามยศ สำหรับทหารใหม่ ยศที่ได้ก็จะเป็น “พลทหาร”  เวลาเขียนชื่อก็จะเป็น “พลฯ ชื่อ นามสกุล” ทหารใหม่ก็จะมาพร้อมกับกฎและข้อห้ามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามใช้โทรศัพท์ ห้ามออกนอกสถานที่ บลา ๆ ๆ และคำว่า ทหารใหม่ ก็จะจบลงเมื่อเราทำการฝึกทหารใหม่เสร็จนั่นเอง เมื่อมาถึงทหารใหม่ก็ต้องมีการฝึก ก็จะมีการจัดตั้ง “หน่วยฝึกทหารใหม่” ขึ้นมา เมื่อฝึกเสร็จ หน่วยฝึกดังกล่าวก็จะถูกยุบไป

โรคจากความร้อน กับ การฝึกทหารใหม่
ในผลัดที่ 1 จะตรงกับช่วงฤดูร้อนพอดี ซึ่งถือเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี (เม.ย.-พ.ค.) (ร้อนสุด ๆ โดยเฉพาะภาคเหนือ) และสิ่งที่จะตามมากับความร้อนนั่นก็คือ “โรคที่สัมพันธ์กับความร้อน” ซึ่งในผลัดอื่น ๆ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน แค่มีความเสี่ยงน้อยกว่านิดหน่อย

ความร้อนจากอากาศและแสงแดด ทำให้ร่างกายเราร้อนขึ้น “ระบบระบายความร้อน” ของร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ และถ้าเป็นมาก ๆ ก็จะทำให้สมองไม่สามารถควบคุม “ความร้อนในร่างกาย” ได้อีก นำไปสู่อาการสมองพิการถาวร และเสียชีวิตได้ในที่สุด ฟังดูน่ากลัว และฟังดูเกินจริงไปบ้าง แต่มันคือเรื่องจริง โดยโรคจากความร้อนจะแบ่งเป็น 5 ขั้น (เรียงจากรุนแรงน้อยไปมาก) ดังนี้ โรคผื่นแดด (Heat rash) / โรคตะคริวแดด (Heat cramp) / เป็นลม (หมดสติจากความร้อน) (Heat syncope) / โรคเพลียแดด (หมดแรงจากความร้อน) (Heat exhaustion) / โรคลมแดด (Heatstroke) ถือว่าเป็นคีย์เวิร์ดในการไปสืบค้นข้อมูลต่อไป โดยเราสามารถดูแลตนเองได้โดยการดื่มน้ำ ป้องกันการขาดน้ำ แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าขาดน้ำ? ก็ให้ดูที่สีของปัสสาวะ ถ้าสีใส แปลว่าเรากินน้ำพอดีแล้ว แต่ถ้าเหลืองเข้ม แปลว่าเราขาดน้ำ ต้องดื่มน้ำเพิ่ม

ทหารใหม่ป่วยทำยังไง?
เมื่อเราเข้าไปอยู่ที่ค่าย เราก็จะถูกย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่ค่ายโดยอัตโนมัติ และจะมีการทำบัตรประกันสุขภาพล่วงหน้า (บัตรทอง) ให้เลย ดังนั้นเมื่อเราเจ็บป่วยมาก ๆ ก็จะถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ทำประกันสุขภาพถ้วนหน้านั่นเอง โดยจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้ามีประกันสังคมอยู่ ก็จะใช้สิทธิประกันสังคมแทน พรบ.รถอะไรก็ว่ากันไป ซึ่งในหน่วยฝึกทหารใหม่ก็จะมี ทหารจากหน่วยเสนารักษ์ (จ่า หรือ หมู่) (เสนารักษ์ คือ สำหรับทหารบกนั้น เป็นชื่อเรียกนายทหารหรือหน่วยทหารที่ต้องเข้าร่วมรบกับหน่วยรบเพื่อปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บและลำเลียงผู้บาดเจ็บเป็นต้น ส่วนสำหรับทหารเรือนั้น เป็นชื่อเรียกนายทหารซึ่งทำงานเป็นแพทย์หรือผู้ช่วยแพทย์ในกองทัพ (อ้างอิง wikipedia) และ ทหารคอหมอ (พลทหาร) (ทหารเกณฑ์รุ่นพี่ที่ไปฝึกเกี่ยวกับการปฐมพยาบาล การทำแผล การช่วยเหลือและจ่ายยาเบื้องต้น) ที่จะคอยดูแลเราตลอดช่วงฝึกทหารใหม่ แต่ถ้าเป็นเคสหนักก็จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาล

นอกจากนี้ทหารใหม่ทุกคนจะได้รับปรอทวัดไข้ เพื่อวัดทุก ๆ วันว่ามีไข้หรือไม่ ถ้าหากมีไข้ก็จะให้ฝึกเบา หรืองดฝึก เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ แต่ด้วยความที่หลายคนไม่เคยใช้ ปรอทก็เสียบ้าง หักบ้าง ถูกละเลยการวัดบ้าง และการจดบันทึกจากข้อมูลจริงบ้าง // สอนใช้ : จับให้แน่น และสะบัดให้ปรอทลงไปอยู่ที่กระเปราะ หรือน้อยกว่าอุณหภูมิร่างกาย (ระวังสะบัดไปชนอะไรแตก หรือหลุดมือแตก) จากนั้นเอามาหนีบไว้ที่รักแร้ที่แห้งสนิท ประมาณ 3-4 นาที แล้วจึงอ่านค่าที่ได้ ปกติร่างกายคนเราจะอยู่ที่ ~37 ํC / ไข้ต่ำๆ 37.5-38  ํC / ไข้สูง 38.5  ํC ถ้าหากมีไข้ หรือมีการเบื่ออาหาร ให้แจ้งกับหมอทหารทันที

ฝึกทหารใหม่เสร็จแล้วยังไงต่อ?
ฝึกเสร็จก็จะได้เงินเดือน รวมไปถึงของที่เราฝากไว้ในวันแรกที่มา และเราก็จะได้กลับบ้าน อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราได้อยู่ค่ายไหนและกองร้อยอะไร ว่าจะได้หยุดกี่วัน เมื่อฝึกทหารใหม่เสร็จ ก็จะย้ายไปอยู่กันที่กองร้อย แต่ละคนก็จะถูกเลือกไปอยู่ยังกองร้อยต่าง ๆ อาจจะเลือกจากความสามารถ หรือเลือกแบบตามลำดับรหัส อันนี้แล้วแต่ค่าย ค่ายเป็นคนเลือก ไม่ใช่เรา เรามีหน้าที่แค่ฟังและทำตาม โดยแต่ละกองร้อยก็จะมีตำแหน่ง และหน้าที่ ที่แตกต่างกันออกไป และแต่ละคนก็จะได้รับหน้าที่ตามความสามารถที่มีอีกที อาจจะได้ไปทำงานที่กอง บก. อาจจะได้ไปอยู่บ้านนาย ไปอยู่โรงพยาบาลค่าย อาจจะได้ไปอยู่ตามชายแดน หรืออาจจะได้ลงใต้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทหารอีกด้วย

ส่วนวันหยุด เมื่อฝึกเสร็จก็จะได้พักกลับบ้านประมาณ 10 วัน (แต่ละค่ายจะไม่เหมือนกัน) หลังจากนั้นทุก ๆ เดือนจะได้กลับบ้านเดือนละ 10 วัน โดยอาจจะได้กลับสลับกับเพื่อน ๆ และเมื่อถึงเดือนที่จะปลด (เรียกว่าผลัดปลด) ก็จะมีวันหยุดเพิ่มให้อีกด้วย…

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ความลับทั้งสาม,@ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค4 ส่วนหน้า