เมื่อวันที่ 15 ส.ค. รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และอดีต ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 5-8% แต่เทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริงแทบไม่มีการปรับขึ้น และบางพื้นที่การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงติดลบ ดังนั้นตนเห็นว่าควรต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 380-400 บาททั่วประเทศ จึงเพียงพอต่อการดำรงชีพและสามารถบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงานและครอบครัว กระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนั้น ต้องมากเพียงพอและอย่างน้อยต้องสูงกว่าอัตราเงินเฟ้ออย่างน้อย 10%

ทั้งนี้ควรยกเลิกแนวทางการพัฒนาหรือยุทธศาสตร์ค่าแรงถูกเพื่อดึงดูดการลงทุน เพราะเป็นยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสำหรับประเทศไทย ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรวัยหนุ่มสาวไม่มาก และเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายกิจการ แต่เสนอให้ใช้ผลิตภาพแรงงานสูงแข่งขัน การลงทุนทางด้านนวัตกรรมแข่งขัน ความโปร่งใสปลอดคอร์รัปชั่นดึงดูดการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องและคงเส้นคงวาของนโยบายดึงดูดการลงทุน รวมทั้ง ใช้มาตรฐานระบบนิติรัฐที่ดี โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี ดึงดูดการลงทุน ต้นทุนการเงินต่ำ และเข้าถึงแหล่งทุนง่ายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน

“ขอเสนอให้ไตรภาคีปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 380 บาทต่อวันเป็นอย่างน้อย และควรใช้อัตราเดียวทั่วประเทศ เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณของการฟื้นตัวจากการเปิดประเทศและนายจ้างในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถจ่ายได้ นายจ้างที่ไม่สามารถจ่ายได้ในอัตรา 380 บาทต่อวัน รัฐบาลควรมีมาตรการทางการเงิน มาตรการปรับโครงสร้างการผลิต มาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ช่วยเหลือกิจการขนาดเล็กขนาดย่อมที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนแรงงานเพิ่มสูงขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว.