เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ศาลอาญามีนบุรี ศาลฯ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 1992/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 10098/2561 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ กับนายทรงกลด ศรีประสงค์ กับพวกรวม 14 คน จำเลย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับพวกรวม 3 คน โจทก์ร่วม ในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ และความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายหมาย อาญา มาตรา 83, 147, 157, 264, 265, 266, 268, 335 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือ หน่วยงานของภาครัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 8 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 10, 60 ให้จำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชดใช้เงิน 950,588,653.22 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยทั้งสิบสี่ ร่วมกันชดใช้เงิน80,000,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และนับโทษต่อ

จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.-12 พ.ย.55 ต่อเนื่องในปี 2557 พวกจำเลยได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์เบียดบังทรัพย์ 689 ล้านบาทเศษ ของ สจล.ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต และยังร่วมกันฟอกเงิน 303 ล้านบาทเศษด้วย ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

วันนี้ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม ทนายโจทก์ร่วม จำเลยที่ 4-11, 13-14 มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 12 ฟังการพิจารณาผ่านระบบการประชุมทางจอภาพจากเรือนจำกลางคลองเปรม โดยมีนักทัณฑวิทยาปฏิบัติการ เป็นสักขีพยาน ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏตัวผ่านจอภาพจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยมีทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นสักขีพยาน ตลอดการอ่านคำพิพากษา และจำเลยที่ 3 ปรากฏตัวผ่านจอภาพจาก เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ปฏิบัติงาน เป็นสักขีพยาน

ศาลอาญามีนบุรีมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 คนละ 50 ปี และให้ร่วมกันชดใช้เงินจำเลยที่ 3 จำคุก 9 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 6 จำคุก 13 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 7 จำคุก 9 ปีจำเลยที่ 10 จำคุก 24 ปี 9 เดือน และให้ร่วมกันชดใช้เงิน จำเลยที่ 11 จำคุก 9 ปี จำเลยที่ 12 จำคุก 20 ปีจำเลยที่ 13 จำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 14 จำคุก 4 ปี 6 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 5 ที่ 8 และ ที่ 9 และนับโทษต่อ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 7 ที่ 10 ที่ 13 และที่ 14 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น

สำหรับจำเลยที่ 1-3, 6, 12 ได้แถลงต่อศาล ขอให้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดในวันนี้ ศาลอนุญาตให้ออกหมายจำคุกถึงที่สุด

นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความเปิดเผยว่า คดีนี้ มีข้อพิรุธตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเงินของสถาบันการศึกษาถูกยักยอกไปก่อนที่นายถวิลจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี แต่กลับโยนความผิดให้กับนายถวิลกล่าวหาว่า เป็นผู้ยักยอกคนเดียวทั้งหมด ซึ่งคดีนี้มีข้อพิรุธหลายกรณี เช่น การมอบอำนาจให้นักการภารโรงทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายเงินจำนวน 150 ล้านบาท ของสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติ

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ตำรวจสอบสวนกลาง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามารับผิดชอบในการสอบสวนดำเนินคดีเพิ่มเติมเนื่องจากเชื่อว่ายังมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอีกหลายคน

ส่วนการเรียกร้องความเป็นธรรม นายถวิล อยู่ระหว่างการพิจารณาสำนวนคดีและคำเบิกความคดีนี้ เพื่อประกอบการยื่นคำร้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ขณะที่นายภาดา จำเลยที่ 8 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง เปิดเผยว่า มอบหมายให้ทนายความรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อฟ้องร้องเอาผิดกลับ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการกล่าวหาทุกคน เพราะที่ผ่านมาชีวิตและการทำงาน ได้รับผลกระทบจากการกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตนี้ ซึ่งวันนี้ผ่านมา 4 ปี 8 เดือน ถือว่าตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ จำเลยทั้งหมดประกอบด้วย นายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซีสุวินทวงศ์ จำเลยที่ 1, น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.ส่วนการคลัง สจล. จำเลยที่ 2, นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ จำเลยที่ 3, น.ส. จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ จำเลยที่ 4, นายสมบัติ โสประดิษฐ์ จำเลยที่ 5, นางระดม มัทธุจัด ที่ 6, นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการณ์ ที่ 7, นายภาดาบัวขาว ที่ 8, นายถวิล พึ่งมา อายุ 64 ปี อดีต อธก.สจล.ที่ 9, นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีต ผช.อธก. ที่ 10, นายสลุต ราชบุรี ที่ 11, นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ที่ 12, นายสมพงษ์ สหพรอุดมการณ์ ที่ 13 และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ที่ 14 .